เศรษฐกิจสมดุลใหม่ งานวิจัยเชิงบูรณาการ มช. คว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ
ทีมวิจัย มช. วิจัยเชิงบูรณาการ "เศรษฐกิจสมดุลใหม่ ความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาที่มั่นคง และยั่งยืน (Integrated Research Project "New Balance Economy: Economic, Social and the Environmental Balance Towards Sustainable Development") รับรางวัลผลงานวิจัย ประจำปี 2555 ระดับดี สาขาเศรษฐศาสตร์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมี ศ.ดร.อารี วิบูลย์พงศ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ศ.ดร.ทรงศักดิ์ ศรีบุญจิตต์ คณะเศรษฐศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยร่วม รศ.ดร.กาญจนา โชคถาวร และ รศ.ดร.ธเนศ ศรีวิชัยลำพันธ์ คณะเศรษฐศาสตร์ ร่วมทีมวิจัย พร้อมทั้งทีมวิจัยจากสถาบันอื่นร่วมโครงการวิจัยด้วย โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ความสำคัญและที่มาของการวิจัย
การเติบโตเชิงปริมาณจากการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้สร้างปัญหาความอ่อนแอในระดับฐานรากของระบบเศรษฐกิจ จากแนวทางการพัฒนาและการบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรอย่างไร้ประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผลิตภาพทุนและผลิตภาพแรงงานอยู่ในระดับต่ำ โครงสร้างสามเสาหลัก(เศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)อยู่ในภาวะเสียสมดุลอย่างมาก และส่งผลให้สังคมไทยมีระดับ ความอยู่เย็นเป็นสุขเฉลี่ยเพียง 62 คะแนนจาก 100 คะแนน แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 จึงได้ให้ความสำคัญกับการค้นหาดุลยภาพใหม่ บนฐานศักยภาพที่สามารถพึ่งพิงตนเองได้สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง3 ระดับ (ครอบครัว ชุมชน โครงข่ายการค้าระดับประเทศ) และเป็นโจทย์ซึ่งสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนดให้วิจัยเชิงบูรณาการขึ้นเพื่อเสนอยุทธศาสตร์ที่จะส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจมีเสถียรภาพและมั่นคงสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก สังคมอยู่เย็นเป็นสุข และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืน
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
โครงการวิจัยนี้วัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์สถานภาพความสมดุลของโครงสร้างทั้งสามเสาหลัก และศักยภาพการแข่งขันของประเทศ สร้างนิยาม”เศรษฐกิจสมดุลใหม่”และจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่สมดุลด้วยเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมั่นคง สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก สังคมอยู่เย็นเป็นสุข และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืน
สรุปผลการวิจัย
ผลการวิเคราะห์จากเอกสารงานวิจัยและแนวคิดทฤษฎีกว่า 600 เรื่อง ร่วมกับข้อคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ และเวที ภาคประชาชน 10 ครั้งจาก 5 ภูมิภาค ประชาชนมีมุมมองต่อเศรษฐกิจสมดุลใหม่ในหลายมิติ โดยเน้นจริยธรรม ความเท่าเทียมกันระหว่างคนในสังคมและการจัดสรรทรัพยากรระหว่างปัจจุบันกับอนาคตซึ่งสรุปเป็น ความหมายของเศรษฐกิจสมดุลใหม่ว่า “ระบบเศรษฐกิจที่มีดุลยภาพ มีความพอดี พอเพียงและเป็นธรรม หรือมีความสมดุลระหว่างกิจกรรมในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจมีความมั่นคง มีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยั่งยืน โดยจุดสมดุลสามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตามกาลเวลา”
สาเหตุของความไม่สมดุลเกิดจากแนวคิดที่ใช้เป็นฐานในการกำหนดนโยบาย และการจัดการของภาครัฐ ซึ่งขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
จากการวิเคราะห์เชิงระบบมหภาคเชิงพลวัต (System dynamics) และ Sufficiency Economy Matrix เพื่อการวางแผนเศรษฐกิจพอเพียงระดับท้องถิ่นพบว่าความสัมพันธ์ของสามภาคหลักไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด เมื่อเกิดความไม่สมดุลในส่วนหนึ่งส่วนใด ก็จะส่งผลกระทบทางลบไปยังส่วนอื่นๆ ตามมา ดังนั้นเพื่อให้เกิดความสมดุลในสามเสา/ภาคหลักควรปรับสัดส่วนการผลิตเกษตร: อุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร: บริการ จาก 9:41:5 ให้เป็น 15:36:49
จากเวทีระดมความคิดเห็นทุกภูมิภาคเสนอให้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางปฎิบัติพร้อมทั้งเสนอ 4 ประเด็นใหม่ 1) การสร้างประเทศให้มีเสถียรภาพทางการเมืองและแก้ไขความไม่โปร่งใส 2) การลดการพึ่งพาต่างประเทศในทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ 3) การสร้างความมั่นคงทางอาชีพโดยเฉพาะด้านเกษตรและเน้นอาชีพตามศักยภาพของท้องถิ่น 4) การพัฒนาระบบการศึกษาให้มีคุณภาพ โดยเน้นความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้น และมีความซื่อสัตย์ และ 5) การบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมและบูรณาการระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่น
งานวิจัยได้เสนอหลักคิดใหม่ 3 ประการ: เป้าหมาย กระบวนทัศน์ และเกณฑ์วัดปัจจัยหลักเพื่อเป็นกรอบกำหนดนโยบายเพื่อเคลื่อนประเทศสู่ความสมดุล โดยกำหนดเป้าหมายให้ระดับความอยู่เย็นเป็นสุขที่ 80 คะแนนทั้งสามภาค ทั้งนี้ต้องอาศัยกระบวนทัศน์การพัฒนาใหม่ให้เกิด “ดุลยภาพพอเพียง” คือลดอุปสงค์ที่เกินจำเป็นและการผลิต (อุปทาน) ที่สอดคล้องกันตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเกณฑ์มาตรวัดหลักช่วยกำกับปริมาณการใช้ทรัพยากร ได้แก่ พื้นที่ป่าไม่ต่ำกว่า 40%ของพื้นที่รวมเป็นต้น งานวิจัยได้เสนอยุทธศาสตร์และกำหนดการนโยบายและมาตรการที่เป็นรูปธรรม 4 ระยะ คือ (1) ระยะเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า (2) นโยบายระยะสั้น เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน (3) นโยบายระยะปานกลาง เพื่อรักษาระดับและเสริมความเข้มแข็ง/สมดุล (4) นโยบายระยะยาว เพื่อสร้างและเสริมสร้างความเข้มแข็ง/สมดุลในด้านต่างๆ
ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย
1. “งานนี้มีลักษณะเป็นงานบุกเบิกทางวิชาการมิเฉพาะแต่สำหรับประเทศไทยแต่...ในระดับนานาชาติ”(คำนิยมของ ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการประยุกต์ใช้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนาคต
2. งานวิจัยชิ้นนี้แสวงหาคำตอบตามความต้องการของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศ.) ซึ่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีจึงมีผู้ใช้ประโยชน์เป้าหมายตรงคือ (สศ.) ในการเสนอยุทธศาสตร์และมาตรการที่เป็นรูปธรรมระดับประเทศให้แก่ ฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) และฝ่ายยุทธศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างสมดุล ทั้งนี้โดยผ่านกระบวนการปกติของ สศ.
3. มีการจัดทำรายงานฉบับผู้บริหารและประชาชนเพื่อเผยแพร่ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักวิชาการและองค์กรเอกชน เช่น มูลนิธิบูรณะนิเวศน์ เป็นต้น ในด้านแนวคิด มาตรการและกรณีศึกษาต่างๆ นอกจากนี้สศ.ยังนำผลงานวิจัยนี้เสนอในการประชุม “International Conference on Balancing the Economic Growth and Social Strengthening in Asia and Global” โรงแรม Shangri–la Hotel, Bangkok, 12-14 มีนาคม 2555 ซึ่งเป็นการประชุมนานาชาติขององค์กรสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือองค์กรที่คล้ายคลึงกันแห่งเอเชีย
4. งานวิจัยเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในการวางแนวทางและมาตรการการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากยุทธศาสตร์บนฐานความสมดุล ทั้งระดับมหภาคและจุลภาค ที่ปฏิบัติได้จริงสามารถเผยแพร่ได้ในระดับสากลต่อไป
5. ประโยชน์จากการวิเคราะห์และวางแผนด้วยตารางเศรษฐกิจพอเพียง เป็นตัวอย่างจากการปฏิบัติจริงให้แก่ ผู้บริหารระดับท้องถิ่น และหากรัฐจะใช้เป็นแนวปฏิบัติทั่วประเทศแล้ว จะเป็นการสนับสนุนการบริหารท้องถิ่นในการจัดการงบประมาณที่ชุมชนมีส่วนร่วม สร้างความโปร่งใสตั้งแต่ฐานของประเทศพร้อมๆ กับการวางแผนตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อชุมชนมุ่งให้ความสำคัญต่อประเด็นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น วิธีการนี้ช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารประเทศจากฐานราก
6. รายงานวิจัยฉบับเต็มเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนในสาขาเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ฯลฯ ในการบูรณาการความรู้หลายมิติ แนวทางสังเคราะห์ความรู้ การวิเคราะห์เชิงปริมาณในลักษณะบูรณาการและพลวัต เพื่อการพยากรณ์และการวางแผน ตัวอย่างที่ดำเนินการแล้วเช่นหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตเศรษฐกิจพอเพียงและปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์เกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวิชาภูมิปัญญาการดำเนินชีวิตโดยใช้กรณีศึกษา โดยสอนให้แก่นักศึกษาทุกคณะกว่าหนึ่งพันคนต่อปี ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ฯลฯ
ศักยภาพในการพัฒนาไปสู่ภาคอุตสาหกรรม
งานวิจัยสร้างความตระหนักให้แก่ภาคอุตสาหกรรมถึงข้อผิดพลาดในอดีต และความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนการพัฒนาเศรษฐกิจในแนวทางใหม่ โดยเฉพาะสัดส่วนของภาคอุสาหกรรม และเกษตรกรรมรวมไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ต้องคำนึงถึงความสมดุลทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกว่า “เศรษฐกิจสมดุล”
Comments