ความเข็มแข็งขององค์กรชุมชน : ข้อพิจารณาจากแนวคิดขององค์ประกอบด้านการดำเนินงานขององค์กรชุมชน (Strengthening Community Organization: deliberateness from the Concept of Constituent PerformingCommunity Organizations)

ความเข็มแข็งขององค์กรชุมชน : ข้อพิจารณาจากแนวคิดขององค์ประกอบด้านการดำเนินงานขององค์กรชุมชน (Strengthening Community Organization: deliberateness from the Concept of Constituent Performing Community Organizations)
ศุภวัฒน์ ปภัสสรากาญจน์*
Supwat Papassarakan
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
Faculty of Humanities and Social Sciences

บทคัดย่อ
บทความนี้ มีจุดมุ่งหมายในการพิจารณา ถึงองค์ประกอบด้านความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนโดยพิจารณาจากแนวคิดในการดำเนินงานขององค์กรชุมชน ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชน  และแม้ว่า จะมีการศึกษาถึงองค์ประกอบของความเข้มแข็งภาคประชาชนอยู่มาก  แต่องค์ประกอบดังกล่าว ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก ดังนั้น บทความนี้จึงได้พิจารณาแนวคิดจากข้อเสนอของนักวิชาการและงานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน โดยการนำเสนอแนวคิดของการดำเนินงานขององค์กรชุมชน  แนวคิดการบริหารสาธารณะ และแนวคิดที่ได้จากงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขององค์กรชุม เพื่อให้ได้ข้อสรุปถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ด้านความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนไว้เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาต่อไป
คำสำคัญ : องค์กรชุมชน  การดำเนินงานขององค์กรชุมชน  ความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน
Abstract
This article intends to deliberate the constituents of strengthening community organization from the concept of performing community organization, which is an organization of the people.  Although, the constituents of strengthening people are further study but such components are not yet clear. The article, therefore, deliberates from the proposal academics and education encompassed to the strengthening community organization. By present through the concept of performing community organization, the concept of public administration and the studies of performing community organization, to accomplish the constituents of the strengthening community organizations to be as those toward study.
Keyword: Community Organization, Performing Community Organization, Strengthening Community
               Organization.
* อาจารย์ประจำหลักสูตร รัฐประศาสนศาสตร์
   Email: sup_w_ at@hotmail.com    

บทนำ   
บทความนี้ มีจุดมุ่งหมายในการพิจารณา ถึงองค์ประกอบด้านความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนโดยพิจารณาจากแนวคิดในการดำเนินงานขององค์กรชุมชน ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชน  และแม้ว่า จะมีการศึกษาถึงองค์ประกอบของความเข้มแข็งภาคประชาชนอยู่มาก  แต่องค์ประกอบดังกล่าว ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก ดังนั้น บทความนี้จึงได้พิจารณาแนวคิดจากข้อเสนอของนักวิชาการและงานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน โดยการนำเสนอแนวคิดของการดำเนินงานขององค์กรชุมชน  แนวคิดการบริหารสาธารณะ และแนวคิดที่ได้จากงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขององค์กรชุม เพื่อให้ได้ข้อสรุปถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ด้านความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนไว้เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาต่อไป
การพิจารณาการดำเนินงานขององค์กรชุมชน สามารถพิจารณาในระดับต่าง ๆ ตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หากพิจารณาแนวคิดความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน จะเห็นว่าแนวคิดมีพื้นฐานจากแนวคิดการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (2540 - 2544) ซึ่ง ได้ให้องค์ประกอบของชุมชนที่เข้มแข็งไว้ โดยเสนอว่า ชุมชนจะมีความเข้มแข็งได้นั้น ชุมชนต้องมีการรวมตัวกันเป็นองค์กรชุมชน มีการเรียนรู้ การจัดการ การแก้ไขปัญหาร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนนักต่อการให้คำจำกัดความของคำว่า “ ความเข็มแข็งของชุมชนหรือชุมชนเข้มแข็ง ” (คณะทำงานสุขภาพคนไทย, 2554) ทำให้มีผลต่อการให้คำจำกัดความของคำว่า “ ความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน ” เช่นกัน เนื่องจากแนวคิดชุมชนเข้มแข็งได้นำเสนอภายใต้พื้นฐานความคิดที่ว่า ชุมชนคือองค์กรชุมชนในรูปแบบหนึ่ง ที่มีโครงสร้าง มีการจัดการและมีสิ่งต่าง ๆ ภายในชุมชน ทำให้คนภายในชุมชนจำเป็นต้องร่วมกันดำรงอยู่ ร่วมกันทำ และ/หรือร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น  การที่จะพัฒนาองค์กรชุมชนที่ซึ่งอยู่ภายในชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็งและมีความยั่งยืน จำเป็นต้องพัฒนาองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น การรวมตัว การมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีกิจกรรม มีการเรียนรู้ที่ไม่ได้มาจากการเรียนรู้ในรูปแบบการสอน (Teaching) และมีการใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้ดังกล่าว 
จะเห็นว่า ในปัจจุบัน  การให้ความสำคัญต่อองค์ประกอบดังกล่าวมีมากขึ้น ซึ่งพบว่า มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาองค์กรชุมชน ให้เกิดศักยภาพและเกิดความเข้มแข็ง โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (2557) ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดในการพัฒนาองค์กรชุมชนตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2543 และพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 โดยเน้นถึงการดำเนินงานขององค์กรชุมชน เพื่อให้องค์กรชุมชนเกิดความเข้มแข็งและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง
               จากแนวความคิดและข้อกำหนดตามแนวนโยบายภาครัฐ ในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรชุมชน  โดยต่างเน้นถึงการสร้างศักยภาพและความสามารถในการดำเนินงานขององค์กรชุมชน เนื่องจาก องค์กรชุมชนเป็นองค์กรระดับฐานรากและเป็นกลไกการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่จะให้เกิดความยั่งยืน ดังนั้น การพิจารณาองค์ประกอบด้านการดำเนินงานขององค์กรชุมชนหรือองค์กรภาคประชาชน ที่มีความชัดเจน จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น
แนวคิดการดำเนินงานขององค์กรชุมชน
               นิยามของการดำเนินงานขององค์กรชุมชน จะพิจารณาจากพื้นฐานขององค์กรและกิจกรรมที่ปรากฏตามลักษณะพื้นที่และเป้าหมาย โดยเน้นการขับเคลื่อนด้วยประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะสมาชิกขององค์กรชุมชนนั้น ทั้งนี้ บทบาทสำคัญขององค์กร คือ         “ กระบวนการจัดการตนเอง โดยเป็นความต้องการของชุมชนให้สัมพันธ์กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะพื้นที่ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาและการจัดการจึงต้องเกิดจากฐานชุมชน ไม่ได้เกิดจากกลไกของรัฐมาทำให้การจัดการใด ๆ ที่เกี่ยวพันกับชีวิต ต้องมีชุมชนเป็นแกนหลัก มีประชาชนเป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น ” (สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง, 2555)
การพิจารณาในแนวทางข้างต้น เป็นความคาดหวังในระดับองค์กรชุมชนหรือชุมชน เพื่อเป้าประสงค์ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในชุมชน รวมทั้งการขับเคลื่อนและการขยายผลไปสู่ความร่วมมือในระดับอื่น ๆ ต่อไป
ข้อพิจารณาองค์ประกอบขององค์กรชุมชนจึงได้แก่ กลุ่มประชาชนที่อยู่ในชุมชน กิจกรรมเคลื่อนไหวซึ่งเป็นกิจกรรมเฉพาะกลุ่ม คณะทำงานหรือคณะกรรมการขององค์กร และการมีส่วนร่วมของสมาชิกองค์กร (สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง, 2555)
ลักษณะอีกประการหนึ่งคือ องค์กรชุมชนมีฐานะเป็นองค์กรท้องถิ่นที่มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาท้องถิ่นไม่ว่าสภาพของท้องถิ่นนั้น จะมีลักษณะเป็นเมืองหรือชนบท (ชินอิชิ ชิเกโตมิ, 2549, เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง, 2557)  ทั้งนี้ แมคฟัดเยลและผู้ร่วมงาน (Macfadyen, G., Cacaud, P., Kuemlangan, B., 2005, Summary) ได้เสนอถึงองค์ประกอบที่นำไปสู่ความสัมฤทธิผลของการส่งเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และนำไปสู่ความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน หลายประการคือ ประการแรก ความสามารถที่มีต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนให้สอดคล้องต่อวัฒนธรรมชุมชนและท้องถิ่นรวมถึงสภาพภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐสังคม ซึ่งขึ้นอยู่กับการสนับสนุนด้านนโยบายหรือกฎหมายที่สอดคล้องต่อสิ่งดังกล่าว ประการที่สอง ความร่วมมือและการใช้กลไกภายในชุมชน (เช่น ผู้นำที่มีความสามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพ ได้รับความเคารพนับถือ ความศรัทธาและความไว้เนื้อเชื่อใจ) การกำหนดบทบาทและหน้าที่ที่ชัดเจน  โดยในประเด็นนี้ ได้ให้ความสำคัญต่อนโยบายและกฎหมายของรัฐ ซึ่งต้องสามารถนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับสภาพชุมชนและท้องถิ่น ประการที่สาม การขับเคลื่อนกระบวน การจัดการแบบมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายในชุมชน หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต้องส่งเสริมสนับสนุน รัฐบาลท้องถิ่นต้องมีระเบียบและกฎหมายของตนเอง มีการส่งเสริมสถาบันท้องถิ่นเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ รวมทั้งการมีสิทธิเข้าถึงข่าวสารข้อมูลและร่วมรับผิดชอบทางสังคมในประเด็นทางสังคมของกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งกระทบต่อส่วนรวม เช่น การร่วมกับกลุ่มสมาพันธ์เพื่อการประมงในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล และแม่น้ำ เป็นต้น
               ในประเด็นการดำเนินงานขององค์กรชุมชนจากพื้นฐานแนวคิดทุนทางสังคมจะพิจารณาได้ว่า คือ ความ สามารถในการเข้าถึงทรัพยากร เป็นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนในชุมชน การสร้างพันธะต่อกันและการสร้างโครงสร้างทางสังคมที่ก่อให้เกิดความใกล้ชิดเพื่อเอื้อต่อความสำเร็จในสิ่งที่คนในชุมชนคาดหวัง (Field, J., 2008, pp. 1 - 2)  อย่างไรก็ตาม จอห์น ฟิลด์ (Field, J., 2008, p. 19) มีความเชื่อว่า แม้ทุนทางสังคมจะทำหน้าที่ที่หลากหลาย โดยปราศจากการเน้นผลกำไร แต่ไม่สอดคล้องต่อสังคมประชาธิปไตยแบบเปิดมากนัก เนื่องจากเน้นความเชื่อถือในตัวผู้นำที่สามารถเป็นแกนนำที่จะทำให้เครือข่ายมีกำลังอำนาจและประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ เขาได้นำการศึกษาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองภายใต้กรอบของทฤษฎีทุนทางสังคมเพื่อสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว แต่เนื่องจากว่า การศึกษาของฟิลด์ (2008) มาจากบริบททางสังคมและเศรษฐกิจแบบกระแสหลัก ที่ทุนทางสังคมอาจปิดกั้นการสะสมทุนในระดับหนึ่ง ดังนั้น การชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยแบบเปิด จึงเป็นการชี้วัดถึงเสรีภาพด้านการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คาบเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งอาจนิยามได้ว่าคือผลประโยชน์ในรูปแบบธุรกิจการเมือง ดังนั้น ผู้นำเชิงอนุรักษ์ที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชน อาจมีลักษณะเผด็จการแบบสังคมประชาธิปไตย และอาจใช้แนวทางภายใต้แนวคิดทุนทางสังคม มาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของประชาสังคมและปิดกั้นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มผลประโยชน์อื่น ทำให้ลักษณะดังกล่าว ถูกมองว่าไม่เป็นมิตรกับประชาธิปไตยแบบเปิด ขณะที่ บอร์ดิว (Bourdieu, P.,1986, p. 249) ยังแบ่งรับแบ่งสู้มากกว่า โดยให้ทัศนะว่า ทุนทางสังคมจะเป็นทรัพยากรที่มีศักยภาพ เนื่องจากจะก่อให้เกิดการเชื่อมโยงกันในลักษณะเครือข่าย จึงไม่จำเป็น ต้องดำเนินร่วมกับเศรษฐกิจแบบทุนนิยมก็ได้ ทัศนะดังกล่าวเชื่อว่า ความเชื่อในผู้นำจะทำให้เกิดพลังอำนาจและผลสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมใดๆ    
               ลักษณะของทุนทางสังคมมีความเกี่ยวข้องกับเครือข่าย ปทัสถาน ความสัมพันธ์ ค่านิยมและการกระทำที่ไม่เป็นทางการ อันทำให้เกิดรูปแบบของการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการร่วมมือทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ  เป็นลักษณะชีวิตทางสังคม การเปิดโอกาสในการมีส่วนร่วมเพื่อทำกิจกรรมใด ๆ ให้เกิดประสิทธิผลของความสำเร็จ และการแบ่งปันวัตถุประสงค์ร่วมกัน การเชื่อมโยงทางสังคมโดยอาศัยปทัสถานและความไว้วางใจ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของสถาบัน กลุ่มองค์กร มีการเชื่อมเครือข่ายด้วยการมีค่านิยมและความเข้าใจร่วมกันเป็นการมีส่วนร่วมภาคประชาชน เพื่อช่วยให้ชุมชนและกลุ่มหรือองค์กรสามารถขยายเครือข่ายหรือภาคี และสามารถทำงานบนพื้นฐานของเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิผล (Aldridge, S., Halpern, D., Fitzpatrict, S., 2002, p. 5, Putnam, R. D., 1993, p. 19, World Bank, OECD, 2001, as cited in Aldridge, S., Halpern, D., Fitzpatrict, S., 2002, p. 10, Valencia - Sandoval, C., Flanders, D.N., Kozak, R. A., 2010, pp. 63  – 70, R.G. Prins, M.A. Beenackers, M.C. Boog, F.J. Van Lenthe, J. Brug , A. Oenema., 2014, pp. 9 – 15, Abbasi, A., Wigand, R. t., Hossain, L., 2014, pp. 1 - 8)

แนวคิดการดำเนินงานขององค์กรชุมชนภายใต้พื้นฐานการบริหารการจัดการสาธารณะ
โดยความหมายแล้ว คำว่าการดำเนินงาน คือการบริหารจัดการขององค์กรไม่ว่าองค์กรนั้นจะเป็นองค์กรใดก็ตาม องค์ประกอบของการจัดการ ได้แก่ การวางแผน การจัดองค์การ การชี้นำและการควบคุม ทั้งนี้ ศุภวัฒน์ ปภัสสรากาญจน์ (2553, หน้า 99 - 115) นำเสนอถึงองค์ประกอบในกระบวนการดำเนินงานหรือการบริหารการจัดการที่ใช้ในแนวคิดการบริหารการจัดการสาธารณะใหม่ไว้ 4 ประการซึ่งเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ ข้างต้น

1. การวางแผน (Planning)
ในกระบวนการวางแผน เน้นการวางแผนเพื่อการพัฒนาที่มี 6 ลักษณะได้แก่ (Turner M. and Hulme D., 1997, pp. 132 – 149, แผนพัฒนาฉบับที่ 11, 2555 – 2559, Meesapawong, P., Rezgui, Y., Li. H., 2014, pp. 1 – 12
     1.1 ลักษณะการวางแผนที่นำเสนอวัตถุประสงค์นโยบายที่เน้นหนักไปในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ
     1.2 ลักษณะการกำหนดกลยุทธ์เพื่อสัมฤทธิผลทั้งวัตถุประสงค์เฉพาะและวัตถุประสงค์ทั่วไป
     1.3 ลักษณะในการกำหนดหลักเกณฑ์ในการนำไปปฏิบัติให้ได้ผลสูงสุดซึ่งจะชี้นำในการปฏิบัติและ
การตัดสินใจวันต่อวัน
     1.4 ลักษณะของความพยายามทำความเข้าใจและความพยายามสร้างอิทธิพลเหนือระบบเศรษฐกิจ
โดยรวม
     1.5 ลักษณะการใช้ประโยชน์จากตัวแบบของเศรษฐกิจมหภาคมาดำเนินการทางเศรษฐกิจ
     1.6 ลักษณะการวางแผนระยะกลางซึ่งอาจเป็นแผน 5 ปีและมีแผนประจำปีคอยสนับสนุนโดยจะ
นำเสนอภายใต้ของแผนระยะยาว
ลักษณะทั้ง 6 ประการเป็นลักษณะทั่วไปของการวางแผนพัฒนาที่ใช้ได้ทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค อย่างไรก็ตาม การนำลักษณะดังกล่าวมาทำการเชื่อมโยงกับแนวคิดการดำเนินงานขององค์กรชุมชนตามแนวคิดที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จะพบลักษณะที่แตกต่างกันเล็กน้อย โดยการดำเนินงานขององค์กรชุมชนจะมีลักษณะดังนี้
1) การวางแผนในระดับองค์กรชุมชน เน้นเป้าหมายทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
     2) ลักษณะการกำหนดกลยุทธ์เพื่อสัมฤทธิผลจะมีลักษณะของการกำหนดเป้าหมายเฉพาะตามลักษณะพื้นฐานแวดล้อมขององค์กรและชุมชนนั้น ๆ 
                     3) การกำหนดหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลสูงสุดและเพื่อชี้นำในการปฏิบัติและการตัดสินใจวันต่อวันเป็นลักษณะของการดำเนินงานในระดับองค์กรชุมชน (Gerlach, K. D., Spreng, R. N., Madore, K. P., Schacter, D. L., 2014)
                    4) ความพยายามในการทำความเข้าใจและการสร้างอิทธิพลเหนือระบบเศรษฐกิจโดยรวมขององค์กรชุมชนจะปรากฏอยู่ในระดับชุมชน และการประสานเชื่อมโยงเครือข่ายขององค์กรชุมชนจะนำไปสู่สิ่งดังกล่าว นอกจากนั้น มีความพยายามในการสร้างอิทธิพลโดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งในระบบการเมืองและระบบสังคมโดยรวมอีกด้วย (Gerlach, K. D., Spreng, R. N., Madore, K. P., Schacter, D. L., 2014)
                    5) การใช้ตัวแบบเศรษฐกิจระดับมหภาค ในการดำเนินงานทางเศรษฐกิจ หมายถึง การที่องค์กรชุมชนดำเนินงานด้านการผลิต การตลาดหรือการกระจายผลผลิตขององค์กรชุมชน ซึ่งมีกิจกรรมด้านการผลิตผลผลิตเช่น ผลผลิตทางการเกษตร ผลผลิตด้าน     ปศุสัตว์ เป็นต้น ทั้งนี้ ได้รวมเอาลักษณะในประการที่ 4) เอาไว้ด้วย
                    6) ลักษณะในการวางแผนตามแนวคิดการบริหารจัดการสาธารณะ มาจากการที่องค์กรชุมชนต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับนโยบายภาครัฐ และองค์กรภาคีต่าง ๆ จึงย่อมต้องเกี่ยวข้องกับการวางแผนชุมชนที่ต้องยกระดับไปสู่แผนพัฒนาตำบล จังหวัด ภูมิภาคและประเทศตามลำดับ
               2. การจัดองค์การ (Organizing)
               แนวคิดในการจัดองค์การภายใต้พื้นฐานของการบริหารการจัดการใหม่ พยายามอธิบายรูปแบบการจัดองค์กรในลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะเป็นหลัก ได้แก่ (Mondros, J. & B., Wilson, S., 1994, pp. 1 – 8,  ศุภวัฒน์, 2553, หน้า 102 – 106, Agarwala, S. D., Barthel, M. L., Rost, C., Borning, A., Bennett, W. L., Johnson, N. C., 2014, pp. 326 - 341)
               2.1 รูปแบบผู้นำและผู้ตาม (Leader/Follower) เป็นรูปแบบผู้นำหรือผู้ตาม รูปแบบนี้มีผู้นำเป็นศูนย์กลางท่ามกลางกลุ่มผู้ตามที่อยู่รอบข้าง มักพบในระบบราชการดั้งเดิม ระบบขุนนางของไทย ระบบเผ่า ระบบแก๊งหรือเจ้าพ่อ ทหาร กลุ่มวิจัยและพัฒนาและระบบบริหารแบบครอบครัว (Kitchen Cabinet) ผู้นำในรูปแบบนี้มาจากลักษณะบารมี และมีลักษณะเข้มแข็งของอำนาจดังกล่าว   
               2.2 รูปแบบปิรามิด (Pyramid) รูปแบบนี้จะแสดงถึงสายงานบังคับบัญชาตามลำดับขั้น เช่น   กองทัพ   กระทรวง   ทบวง  กรมและองค์กรส่วนใหญ่ที่มีระบบการประสานงาน
               2.3 รูปแบบกลุ่ม/สถาบัน (Consortium) หรือองค์กรสมาพันธ์ที่มีการเชื่อมโยงและรวมตัวกันแบบหลวม ๆ เช่น องค์กรนาโต้ องค์กรชุมชนระดับรากหญ้า การรวมตัวขององค์กรสาธารณะและองค์กรเอกชนในรูปแบบพันธมิตร (Partnership) เป็นต้น รูปแบบกลุ่ม/สถาบันเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาสูง แต่มีปัญหาความแตกต่างของพฤติกรรมของสมาชิกในองค์กร
2.4 รูปแบบเมตริก (Matrix) องค์กรในรูปแบบเมตริก (Matrix) จะมีลักษณะของอำนาจหน้าที่และสายงานแบบทวิ (Dual Lines of Authority) เช่น องค์กรนาซา ห้างหุ้นส่วน อุตสาหกรรมอิเลคโทรนิค เป็นต้น
2.5 รูปแบบทีม (Team) องค์กรรูปแบบทีม มีลักษณะของการมีส่วนร่วม ซึ่งจะมีการมอบหมายให้บุคคลในองค์กรทำหน้าที่ต่างๆ หรือมีการว่าจ้างให้ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ส่วนหนึ่งของกระทรวงเกษตรในโครงการแปลงทรัพย์สินเป็นทุน องค์กรที่ปรึกษา เป็นต้น
               หากพิจารณาตามความหมายขององค์กรชุมชน และการแจกแจงลักษณะองค์กรชุมชนในการจัดรูปแบบองค์การขององค์กรชุมชนตามความหมายของ ชินอิชิ (2006) สถาบันพัฒนาการเมือง (2555) รวมถึงลักษณะภายใต้แนวคิดทุนทางสังคมจะพบว่า รูปแบบองค์กรที่น่าจะนำมาพิจารณาในที่นี้ ได้แก่ รูปแบบผู้นำและผู้ตาม รูปแบบปิรามิดและรูปแบบกลุ่ม/สถาบัน ทั้งนี้ การจัดองค์การขององค์กรชุมชนโดยภาพรวม ผู้นำองค์กรมักถูกเรียกว่า แกนนำองค์กร ซึ่งมาจากการแสดงออกถึงลักษณะเด่นที่มีภาวะผู้นำสูง เป็นผู้ประสานเชื่อมโยงได้อย่างดี และมักเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของสมาชิกองค์กรและชุมชน ลักษณะขององค์กรประเภทนี้ จะปรากฏให้เห็นถึงการรวมตัวกันในระดับเครือข่ายองค์กรชุมชน เนื่องจากมีลักษณะการรวมตัวแบบหลวม ๆ และมีความแตกต่างของพฤติกรรมของสมาชิกในแต่ละองค์กรเครือข่ายสูง อย่างไรก็ตาม ลักษณะหนึ่งที่ปรากฏในชุมชนของสังคมไทยคือ ลักษณะอุปถัมภ์ และการเคารพในระดับอาวุโส ดังนั้น รูปแบบปิรามิดและรูปแบบกลุ่ม/สถาบัน จึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงการประสานงานทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กรได้เป็นอย่างดี ลักษณะทั้งสองประการดังกล่าว เอื้อต่อการติดต่อสื่อสารแบบไม่เป็นทางการ อย่างไรก็ตาม การสื่อสารของสมาชิกในองค์กรชุมชน จะมีจุดประสงค์เพื่อการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการหาข้อสรุปร่วมกัน การประชาสัมพันธ์ข่าวการดำเนินงานขององค์กร การประชุมแกนนำองค์กร และการกระจายข่าวสารของกลุ่มย่อย การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมวัฒนธรรม เป็นต้น (Agarwala, S. D., Barthel, M. L., Rost, C., Borning, A., Bennett, W. L., Johnson, N. C., 2014, pp. 326 - 341)   ดังนั้น การสื่อสารในลักษณะใด ๆ ก็ตาม ถือเป็นเครื่องมือในการที่จะก่อให้เกิดการรับรู้และความเข้าใจร่วมกัน ทั้งนี้ หากการสื่อสารมีปริมาณไม่เพียงพอหรือไขว้เขวจากความเป็นจริง จะทำให้การบรรลุวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรชุมชนเป็นไปได้ยาก
3. การชี้นำ(Leading)
การชี้นำคือ การใช้อำนาจหน้าที่และภาวะผู้นำเพื่อการพิจารณา ตัดสินใจและจัดทำข้อกำหนดทิศทางให้เป็นไปตามเป้าประสงค์โดยรวมขององค์กรชุมชน องค์ประกอบด้านการชี้นำถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้การดำเนินงานขององค์กรชุมชน มีความสามารถในการประสานประโยชน์และประสานบทบาทในการดำเนินกิจกรรมของสมาชิกแต่ละคนในองค์กร (สมพันธ์ เตชะอธิกและคณะ, 2540; จินตนา บุญยิ่งและคณะ, 2555, หน้า 65 - 74; ศิรินาถ ราชคําและคณะ, 2557, หน้า 56 - 64)
นอกจากนั้น สมพันธ์และคณะ (2540)  จินตนา บุญยิ่งและคณะ (2555ศิรินาถ ราชคําและคณะ (2557)    ได้ให้แนวคิดที่สามารถจำแนกลักษณะผู้นำองค์กรชุมชนไว้รวม 6 ลักษณะคือ
1. การชี้นำทางความคิด ซึ่งเน้นให้สมาชิกรู้จักตนเอง รู้จักปัญหา จนนำไปสู่การเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนา
               2. การชี้นำด้านศีลธรรม เน้นศีลธรรมที่เกิดขึ้นจากศาสนา วัฒนธรรม ค่านิยมของชุมชน สังคม โดยประยุกต์เข้ากับการรวมกลุ่มองค์กรเพื่อดำเนินกิจกรรมเหล่านั้น
3. การชี้นำด้านอาชีพ สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
   1) การทำกิจกรรมเฉพาะด้าน เช่น การออมทรัพย์ กลุ่มอาชีพ กลุ่มอนุรักษ์ กลุ่มวัฒนธรรม ฯลฯ
   2) กระบวนการทำงานที่มีผลดีกับชุมชนคือ การมีความสัมพันธ์กับชุมชน วิเคราะห์ชุมชนจัดอันดับการมีส่วนร่วมของสมาชิกและชุมชน
4. การชี้นำด้านการพูด มีลักษณะของการกระตุ้นทางความคิดและการปฏิบัติต่อสมาชิก จากสิ่งที่ตัวผู้นำเคยผ่านประสบการณ์มาก่อน ซึ่งลักษณะนี้เรียกว่า ผู้เชี่ยวชาญของชุมชน
               5. การชี้นำในการประยุกต์ด้านการทำงาน โดยชี้นำให้เกิดความสามารถในการประยุกต์งานราชการเข้ากับเป้าหมายเพื่อชุมชนได้ กล่าวคือ บุคคลที่ถูกชี้นำ สามารถนำแผนงาน นโยบายที่มาจากการร่วมคิดร่วมทำของชุมชน เสนอเป็นแผนงานและกิจกรรม เข้าสู่ระบบราชการ หรือหน่วยงานสนับสนุนที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนกิจกรรมจากชุมชน ทั้งการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี องค์ความรู้และงบประมาณ
               6. การชี้นำทางการประสานทรัพยากรภายในและภายนอกชุมชน หรือการชี้นำของผู้นำบารมี จะมีลักษณะของการระดมทุนในรูปแบบต่างๆ มาใช้ในการดำเนินกิจกรรมได้ทั้งจากภายในและภายนอกชุมชน
นอกจากการชี้นำทั้ง 6 ลักษณะจะเป็นบทบาทของผู้นำแล้ว การชี้นำยังจำเป็นต้องแสดงถึงบทบาทในการกำกับทิศทาง (Steering) ของเป้าหมายองค์กร เป้าหมายการดำเนินงานและเป้าหมายอื่น ๆ ที่องค์กรชุมชนต้องการ ดังนั้น การใช้บทบาทการชี้นำและการกำกับทิศทาง จำเป็นต้องมีภาวะผู้นำที่มีคุณสมบัติที่ดีคือ มีศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรม โดยเฉพาะความเป็นประชาธิปไตยที่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของสมาชิกองค์กรชุมชนต่อการกำหนดทิศทางของผลการดำเนินงาน ซึ่งโดยทั่วไป คือการทำให้เกิดผลลัพธ์ของการดำเนินงานขององค์กรชุมชน เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ กล่าวคือ การดำเนินการขององค์กรชุมชนนั้น สามารถสนองตอบต่อสมาชิกภายในองค์กรชุมชนนั้น ในขณะเดียวกัน ชุมชนทั้งชุมชนจะได้รับผลดีจากการดำเนินงานทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคมและหรือสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกิจกรรมขององค์กรชุมชนนั้น ๆ
4. การควบคุมตรวจสอบ (Controlling and Accountability)
การควบคุมในที่นี้หมายถึง การให้ความรู้ หรือการเรียนรู้แลกเปลี่ยนที่สมาชิกองค์กรชุมชนจำเป็นต้องได้รับ ซิมเมอร์แมน (Zimmerman, W., 2005) ศุภวัฒน์ (2553) และ หยวน ลี (Li,  Y.,  2013, pp. 69 - 103) เอสโคบาและรอส เอชเลย์ (Escobar - Lemmon, M. & Ross, A. D., 2014, pp. 175 - 188)  เอคเคอร์แมน (Ackerman, J. M., 2014, pp. 293 - 333) เสนอว่า การควบคุม เป็นการปรับปรุงคุณภาพของกระบวนดำเนินงานทั้งระบบ และการดำเนินงานจะสามารถปรับปรุงคุณภาพด้านต่าง ๆ ที่มีปัญหา เช่น การนำเข้าทรัพยากร กระบวน การผลิตผลผลิตและผลลัพธ์ ซึ่งการดำเนินงานทั้งระบบจะแสดงถึงความสัมพันธ์ของสิ่งดังกล่าวให้เป็นไปตามการกำกับทิศทางขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นในด้านความประหยัดหรือมัธยัสถ์และความมีประสิทธิภาพ สิ่งดังกล่าวจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสมาชิกในองค์กรชุมชนมีการเรียนรู้แลกเปลี่ยน เพื่อนำไปใช้ในการแปลงทรัพยากรไปสู่ผลผลิตและผลลัพธ์ที่สนองตอบตรงต่อความต้องการขององค์กรชุมชน ตลอดจนสมาชิกและชุมชน ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขแวดล้อมของชุมชนและท้องถิ่น รวมทั้งเป็นไปตามเงื่อนไขของข้อกำหนดด้านความประหยัดและความมีประสิทธิภาพในการผลิตผลผลิตและการชี้วัดถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น
การตรวจสอบการดำเนินงาน ถือเป็นการควบคุมการดำเนินงานขององค์กรชุมชนอย่างหนึ่ง แนวคิดของการตรวจสอบและการควบคุมในระดับองค์กรชุมชน สมพันธ์ เตชะอธิกและคณะ (2540) สมิทและโฮลเมส (Smith, B. W. & Holmes, M. D., 2014, p. 88) มีความคิดเห็นว่า การตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรชุมชน มีจุดประสงค์เพื่อการรับรู้ร่วมกันของสมาชิกองค์กร เป็นการแสดงความโปร่งใส และชัดเจนในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนรวม ทั้งที่เป็นของสมาชิกองค์กรและผลประโยชน์ที่เกิดกับชุมชนโดยรวม การตรวจสอบดังกล่าว จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  
               กรอบทางความคิดของการดำเนินงานขององค์กรชุมชน จะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยเมื่อเชื่อมโยงและเปรียบเทียบกับแนวความคิดทั่วไปของการบริหารจัดการซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในวงการวิชาการ และองค์กรหรือหน่วยงานทั้งในภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมของชุมชนส่วนใหญ่ มีลักษณะความเป็นเครือญาติ ทั้งยังมีสภาพสังคม วัฒนธรรมและเงื่อนไขแวดล้อมด้าน   อื่น ๆ ที่มีผลทำให้การดำเนินงานขององค์กรชุมชนมีลักษณะการดำเนินงานไม่เคร่งครัด อยู่ภายใต้ค่านิยมทางสังคม และไม่เข้มข้นดังหน่วยงานภาครัฐ ที่มุ่งหวังผลของการปฏิบัติงานและหน่วยงานภาคเอกชนที่มุ่งหวังผลเชิงกำไร  ข้อสรุปที่ได้จากกรอบของการดำเนินงานขององค์กรชุมชน พบลักษณะการผสมผสานรูปแบบการจัดองค์กร เพื่อเอื้อต่อการดำเนินงานโดยมีปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญ ซึ่งมีผลต่อการจัดรูปแบบองค์กรดังกล่าว ได้แก่ ลักษณะอุปถัมภ์และลักษณะของระดับอาวุโส  ฉะนั้น รูปแบบปิรามิดและรูปแบบกลุ่ม/สถาบัน จึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงการสื่อสารและประสานงานทั้งภายนอกและภายในได้ อย่างไรก็ตาม อาจพบลักษณะอื่น ๆ ของรูปแบบการจัดองค์กรชุมชนเมื่อมีการศึกษาอย่างลึกซึ้ง
               ดังนั้น องค์ประกอบที่เป็นผลมาจากการจัองค์กรชุมชนคือ การชี้นำ ซึ่งต้องใช้ภาวะผู้นำค่อนข้างสูง เนื่องจาก ลักษณะของผู้นำองค์กรชุมชน ต้องเป็นที่ยอมรับของสมาชิกภายในชุมชนและสมาชิกภายในองค์กร ผู้นำจำเป็นต้องแสดงออกถึงลักษณะของผู้ที่มีภูมิปัญญา มีคุณธรรม หรือมีความอาวุโส ซึ่งได้รับความศรัทธาเชื่อมั่นจากชุมชนและสมาชิกขององค์กร นอกจากนั้น อาจมีลักษณะของการมีความคิดสร้างสรรค์หรือความคิดริเริ่ม และประสานเชื่อมโยงในสิ่งที่สมาชิกชุมชนเห็นว่าเป็นประโยชน์และเป็นผลดีต่อชุมชน  การชี้นำและการกำกับทิศทางของการดำเนินงานขององค์กรชุมชน จึงเป็นไปตามลักษณะภาวะผู้นำขององค์กรชุมชนแต่ละองค์กร 
ข้อพิจารณาจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขององค์กรชุมชน
               การศึกษาการบริหารจัดการหรือการดำเนินงานขององค์กรชุมชน จะมีความแตกต่างกันบ้างตามวัตถุประสงค์ขององค์กรชุมชนและสภาพแวดล้อมของแต่ละชุมชน โดยเฉพาะการมุ่งผลต่อวัตถุประสงค์ในเชิงผลลัพธ์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกิจกรรมและการมุ่งเป้าประสงค์ ดังที่ อุดมศักดิ์ เดโชชัย และคณะ (2553) ทำการศึกษา “ องค์กรชุมชนกับการบริหารจัดการทุนแบบบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนกรณีศึกษา : บ้านคีรีวง ตำบลกำโลน อำเภอลานสกาและบ้านดอนคา ตำบลทอนหงส์อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของความคิดในการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนร่วมกัน การใช้รูปแบบและวิธีการในการบริหารจัดการทุนแบบบูรณาการ พร้อมทั้งผลการดำเนินงานขององค์กรชุมชนตามรูปแบบและวิธีการดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนในชุมชนบ้านคีรีวงและชุมชนบ้านดอนคา การศึกษาพบว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของความคิดในการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนร่วมกัน เกิดขึ้นจากปัจจัยภายในชุมชน ได้แก่ ภัยพิบัติจากธรรมชาติ ปัญหาหนี้สิน ทรัพยากรธรรมชาติและแกนนำชุมชน เป็นต้น นอกจากนั้น ยังเกิดจากปัจจัยภายนอกชุมชน ได้แก่ ความสำเร็จจากชุมชนอื่น การสนับสนุนแนะนำจากหน่วยงานภายนอก เป็นต้น  นอกจากนั้นยังพบว่าทั้ง 2 ชุมชนได้ยก ระดับกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นเป็นสถาบันการเงินของชุมชนที่คอยแก้ไขปัญหาสภาพคล่องให้กับกลุ่มองค์กรชุมชนที่เกิดใหม่ ผลการดำเนินงานดังกล่าว นอกจากจะเชื่อมโยงให้เกิดองค์กรชุมชนที่มีลักษณะหลากหลายแล้ว ยังทำให้เกิดการบริหารจัดการทุนแบบบูรณาการและครบวงจร จนเกิดกลไกการดูแลกันอย่างเชื่อมโยงตามหน่วยย่อยต่าง ๆ ของสังคม อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ เป็นการศึกษาตามกรอบของแนวคิดโครงสร้างหน้าที่ ทำให้อาจมีลักษณะที่ไม่ครบถ้วนของการดำเนินงานตามกรอบแนวความคิดด้านการบริหารจัดการ หรือการดำเนินงานข้างต้น แต่งานศึกษาสามารถพิจารณาได้ถึงลักษณะของแกนนำองค์กรชุมชนซึ่งถือว่าเป็นคุณสมบัติของผู้นำที่สำคัญขององค์กรชุมชน ได้แก่ ความคิดริเริ่ม ความมีจริยธรรม คุณธรรม และความมุ่งมั่น เป็นต้น
การสะท้อนบทบาทในเชิงโครงสร้าง โดยการศึกษาบทบาทขององค์กรชุมชนต่อการจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำในงานศึกษาชื่อ “ องค์กรชุมชนกับการจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำ : กรณีศึกษาอุทยานมัจฉาบ้านโขงกุดหวาย ตำบลเกิ้ง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสาร คาม  ของ พระมหาสุนทร ปัญญาพงษ์ (2545) มีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ ประการแรก ศึกษาพัฒนาการและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับองค์กรชุมชน ประการที่สอง ศึกษาโครงสร้างหน้าที่ขององค์กรชุมชนในฐานะที่ทำหน้าที่ในการจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำ พบว่า พัฒนาการขององค์กรชุมชน สภาวัฒนธรรมบ้านโขงกุดหวาย จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของทางราชการ มีหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) เป็นผู้ให้แนวคิดหลักการและแผนงาน ประชาชนในชุมชนโขงกุดหวายไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดตั้งองค์กรชุมชน เป็นแต่เพียงผู้ดำเนินงานตามแผนงานดังกล่าว ความสำนึกในความเป็นเจ้าของทรัพยากรและการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการจึงมีน้อย แม้ผู้นำชุมชนจะมีความเข้มแข็งและสามารถรวมพลังจัดตั้งกลุ่มได้ แต่การทำงานกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มเครือญาติของกรรมการบางคน จึงนำไปสู่ปัญหาการเข้าถึงทรัพยากรและแย่งชิงผลประโยชน์ ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมในชุมชน  การจัดโครงสร้างการบริหารจัดการขององค์กรชุมชนสภาวัฒนธรรมบ้านโขงกุดหวาย มีลักษณะหลวม ๆ เน้นวางตัวบุคคลให้ครบตามตำแหน่งงาน ทำให้องค์กรชุมชนไม่สามารถพัฒนาด้านโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการได้อย่างชัดเจน องค์กรมีสภาพอ่อนแอ การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงองค์กรเป็นไปตามความต้องการของหน่วยงานราชการ ทำให้อำนาจในการตัดสินใจไม่ได้เกิดจากความต้องการที่แท้จริงของคนในชุมชน  การเรียนรู้การทำงานขององค์กรชุมชน กระจุกตัวอยู่เฉพาะผู้นำชุมชน ซึ่งได้รับประสบการณ์จากการอบรมและการศึกษาดูงาน สมาชิกองค์กรไม่มีโอกาสการเรียนรู้ และต้องอาศัยการถ่ายทอดความรู้จากผู้นำชุมชนเป็นหลัก ทำให้การมีส่วนร่วมของสมาชิกภายในองค์กรชุมชนมีน้อย คนในชุมชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยในการบริหารจัดการ ทำให้การทำงานขาดความร่วมมือจากชุมชน ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากร  แม้ว่าการศึกษาของ พระมหาสุนทร ปัญญาพงษ์ จะเป็นการศึกษาที่ค่อนข้างเก่าแต่การศึกษาดังกล่าว เป็นภาพสะท้อนขององค์กรชุมชนที่ถูกแทรกแซงจากหน่วยงานรัฐ เนื่องจากงานศึกษา เป็นงานศึกษาภายใต้สถาบันวัฒนธรรมศึกษา (สวช.)  ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่เข้าแทรกแทรกแซงทั้งแนวคิดหลักการ และการวางแผนปฏิบัติ ขาดการมีส่วนร่วมที่แท้จริง ทำให้องค์กรชุมชนอ่อนแอ  ในท้ายที่สุด มีข้อน่าสังเกตถึงความขัดแย้งของข้อสรุปและผลจากการศึกษา โดยข้อสรุปของการศึกษาสรุปว่า “ ได้ค้นพบสิ่งสำคัญที่มีผลต่อการคงอยู่ขององค์กรชุมชน ได้แก่ การมีผู้นำที่เข้มแข็ง มีทุนหรืองบประมาณและการกระจายผลประโยชน์ ทำให้การดำเนินงานขององค์กรชุมชนประสบผลสำเร็จ องค์กรชุมชนได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย มีบ่อยครั้งที่หน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ เข้าไปศึกษาดูงาน ดังนั้น ผลการดำเนินงานขององค์กรชุมชนแห่งนี้ เป็นแนวทางเลือกหนึ่ง ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมกับความต้องการของชุมชนและสภาพภูมิประเทศ โดยสามารถนำไปปรับใช้กับองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ในระดับรากหญ้าของท้องถิ่นต่อไป ” แม้ว่าการศึกษา จะมีข้อขัดแย้งข้างต้น แต่อย่างน้อย ข้อสรุปดังกล่าว สะท้อนภาพของค่านิยมทางสังคม ที่ก่อให้เกิดจุดยืนร่วมกันของชุมชนได้พอสมควร 
               งานศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของชุมชนในการจัดการทรัพยากรน้ำ รวมทั้งแสดงถึงความขัดแย้งของชุมชนต่อทรัพยากรดังกล่าว เนื่องจากไม่สามารถทำความเข้าใจต่อปัญหาการใช้ทรัพยากรน้ำ ที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยดาริกา สุวรรณมงคล, บุศรา ลิ้มนิรันดร์กุล, และถาวร อ่อนประไพ (2556, หน้า 121 - 127) ศึกษาเรื่อง  การจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลากหลายที่ระดับท้องถิ่น : กรณีศึกษาลุ่มน้ำแม่ขะนาด อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูนเป็นการศึกษาถึงบทบาทกลไกการทำงานและศักยภาพขององค์กรในท้องถิ่นต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้องค์ประกอบที่มีอยู่ภายในองค์กรชุมชน ได้แก่ ศักยภาพที่มีอยู่ เช่น เครือข่ายแกนนำในการประสาน เชื่อมโยง ภาวะผู้นำ แรงสนับสนุนจากภายนอก กลไกการทำงาน เช่น การสร้างกิจกรรมร่วมกัน การประชุมหารือ การอนุรักษ์ การสร้างฝาย และพิธีกรรม นอกจากนั้น ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น การมีกติการ่วมกัน แผนปฏิบัติงานและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งนี้ กระบวนการศึกษาที่สอดแทรกการเสวนา การประชุมกลุ่ม ทำให้สามารถลดปัญหาความขัดแย้ง และสร้างความเข้าใจระหว่างชุมชนและก่อให้เกิดการประสานระหว่างองค์กรชุมชนและองค์กรภายนอกมากขึ้น สิ่งดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพที่มีอยู่ภายในของชุมชน แต่ถูกค่านิยมทางสังคมภายนอก เข้าครอบงำจนลืมค่านิยมดั้งเดิมของชุมชนจนไม่สามารถสร้างความเข้าใจระหว่างชุมชนได้     
               ศักยภาพที่ชุมชนมีอยู่แสดงถึงอัตลักษณ์หรือตัวตนของชุมชน โดยเฉพาะผู้นำหรือแกนนำชุมชน ซึ่งจะมีลักษณะของผู้ประสานเชื่อมโยงที่ดีเยี่ยม ทั้งนี้ ลักษณะที่โดดเด่น คือ ความมีอุดมการณ์ ความสำนึกความเสียสละเพื่อสังคมและเพื่อส่วนรวม รวมถึงการถ่ายทอดความรู้และอุดมการณ์ไปสู่คนรุ่นใหม่ ดังงานศึกษาที่สะท้อนแนวคิดข้างต้นของ ปริวัตร เปลี่ยนศิริและวาสิตา บุญสาธร (2557)    เรื่อง “  การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนากับการประยุกต์ ใช้สุนทรียสาธกในการค้นหาแบบจำลองแนวคิดการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน: กรณีศึกษาชุมชนที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวกลุ่มชาติพันธุ์ปกากะญอบ้านแม่คองซ้าย ในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่  นอกจากนั้น ศรันยู เรือนจันทร์ (2557)  ยังชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวในการดำเนินงานด้านการจัดการสุขภาวะ การขาดกระบวนการมีส่วนร่วม ไม่มีการวางแผนดำเนินงานของชุมชนระยะยาว บทบาทด้านการจัดการโดยส่วนใหญ่เป็นของแกนนำชุมชน การศึกษา เป็นการศึกษาถึงชุมชนเมืองและมีการสอดแทรกการพัฒนาศักยภาพในด้านการจัดการสุขภาวะไปพร้อม ๆ กัน เพื่อเพิ่มความสามารถด้านการจัดการข้างต้น การศึกษาสะท้อนภาพของศักยภาพในการดำเนินงานของชุมชนเมือง ซึ่งมีอยู่ในระดับต่ำ หากเปรียบเทียบกับชุมชนชนบท อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้เกิดผลดังกล่าวคือ ความเป็นเมืองและการแทรกแซงของภาครัฐ รวมทั้งการไม่ใช่ท้องถิ่นดั้งเดิม ทำให้ไม่ก่อให้เกิดความผูกพันกับถิ่นที่อยู่ รูปแบบการแสดงบทบาทของแกนนำชุมชนข้างต้น  ทำให้บทบาทระดับปัจเจกบุคคลของแกนนำชุมชนได้รับความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะต่อผู้นำชุมชน เนื่องจากมีความเชื่อว่า ผู้นำมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำแผนชุมชน ดังที่ สายใจ เรือนใจหลัก (2554) ได้ทำการศึกษาเรื่อง บทบาทของผู้นำชุมชนในการจัดทำแผนชุมชน: ศึกษากรณีตำบลมะขามล้มอำเภอบางปลาม้าจังหวัดสุพรรณบุรี ภายใต้กำกับของกรมการพัฒนาชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาบทบาทของผู้นำชุมชนในการจัดทำแผนชุมชน การมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชน ปัญหาอุปสรรคในการจัดทำแผนชุมชนของตำบลมะขามล้ม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี พบว่า บทบาทของผู้นำชุมชนต่อการจัดทำแผนชุมชน ผู้นำชุมชนมีภาวะผู้นำที่มีความรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ของตนเองในการกระตุ้น ชี้นำ ผลักดัน ให้บุคคลอื่นหรือกลุ่มบุคคลอื่น มีความเต็มใจและกระตือรือร้นในการทำสิ่งต่าง ๆ ตามความต้องการ โดยอาศัยความสำเร็จของกลุ่ม หรือองค์กรเป็นกลไกสู่เป้าหมาย ขณะที่ตัวผู้นำชุมชนมีบทบาทสำคัญในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนชุมชมร่วมกับสมาชิกชุมชน ซึ่งการมีส่วนร่วมหมายถึง การเข้าร่วมกลุ่มแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งหรือการพัฒนา การมีบทบาทตามกระบวนการของการมีส่วนร่วม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของกลุ่มเป็นหลัก ประสิทธิผลขององค์กรขึ้นอยู่กับการรวมพลังของบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจบรรลุเป้าหมาย วิธีการรวมพลังความคิด สติปัญญาเพื่อการดำเนินการหรือปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ เป็นผลให้บุคคลนั้นมีความผูกพันต่อกิจกรรมและองค์กร การศึกษาในเชิงบทบาทเช่นเดียวกับการศึกษาของสายใจคือ การศึกษาของพยุง รสใจ (2554) เรื่องบทบาทผู้นำสตรีในทางการเมืองการปกครอง:ศึกษากรณีตำบลหนองมะค่าโมง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งศึกษาปัจจัยที่ทำให้ผู้นำสตรีเข้ามามีบทบาททางการเมืองการปกครองในระดับท้องถิ่น บทบาททางการเมืองการปกครองระดับท้องถิ่นของผู้นำสตรี ปัญหาและอุปสรรค ในการดำเนินบทบาททางการเมืองการปกครองระดับท้องถิ่นของผู้นำสตรี พบว่า ปัจจัยที่ทำให้ผู้นำสตรีเข้ามามีบทบาททางการเมืองการปกครองในระดับท้องถิ่น เกิดจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ปัจจัยภายในที่ สำคัญคือ การตัดสินใจด้วยตนเอง การสนับสนุนจากสมาชิกในครอบครัว เพื่อนบ้าน ส่วนปัจจัยภายนอกคือ ความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์บ้านเมือง สำหรับบทบาททางการเมืองการปกครองระดับท้องถิ่นของผู้นำสตรีที่สำคัญที่สุด ได้แก่ การร่วมรณรงค์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินบทบาททางการเมืองการปกครองระดับท้องถิ่น  การศึกษาเชิงบทบาทของผู้นำชุมชนข้างต้น แสดงให้เห็นถึงลักษณะการใช้ภาวะผู้นำซึ่งมีลักษณะเชิงบทบาทต่อการชี้นำและการผลักดันให้ผู้อื่นร่วมมือ มีความกระตือรือร้นที่จะทำงานร่วมกัน ความสามารถในการเอาชนะอุปสรรคด้านค่านิยม ความสามารถในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญต่อการแสดงบทบาทของผู้นำองค์กรชุมชนไม่ว่าจะเป็นผู้นำที่เป็นเพศหญิงหรือเพศชายคือ การเรียนรู้ให้เกิดความรู้ ประสบการณ์และการใช้หลักการในเชิงเหตุและผลในการตัดสินใจ  
นอกจากภาพสะท้อนบทบาทในระดับชุมชนและระดับปัจเจกแล้ว บทบาทในระดับครัวเรือนถือว่ามีความสำคัญและยังสามารถสะท้อนถึงภาพของการจัดการภายในครอบครัวได้อีกด้วย งานศึกษาที่สะท้อนภาพดังกล่าว ได้แก่ งานศึกษาของ สุพรรณี ไชยอำพรและ ฐิติญา วิมลวัฒน์ (2557) เรื่อง การจัดการอาหารในระดับครอบครัวตามวิถีมุสลิมและกระบวนการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในครอบครัว : กรณีศึกษา ชุมชนบ้านชาใจ อำเภอไชโยจังหวัดอ่างทองโดยศึกษาการจัดการอาหารในครอบครัวตามวิถีมุสลิม และกระบวนการขับเคลื่อนเพื่อทำให้เกิดความมั่นคงด้านอาหาร พบว่า ลักษณะการจัดการอาหารมี 3 ลักษณะ ได้แก่ การจัดการเพื่ออาชีพ การจัดการเพื่อการดำเนินชีวิตและการจัดการเพื่อรักษาวัฒนธรรมตามวิถีมุสลิม โดยมีกระบวนการขับเคลื่อนเพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารทั้งสามลักษณะ กล่าวคือ ต้องค้นหาความต้องการทรัพยากรที่ใช้ผลิตเป็นวัตถุดิบ เช่น พื้นที่ปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์ มีการสร้างแรงจูงใจแก่คนในครอบครัว รวมทั้ง ปลูกฝังค่านิยมความภาคภูมิใจในชุมชนของตน ปัจจัยข้างต้น ผลักดันให้เกิดการดำเนินงานด้านอื่น ๆ ตามมา เช่น การจัดตั้งสหกรณ์ชุมชน การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการปฏิบัติกิจกรรมร่วมกันของชุมชน ผู้นำชุมชนจะเป็นแกนหลักเพื่อ ให้เกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ๆ เช่น กลุ่มอาหาร กลุ่มอาสา เป็นต้น สำหรับกระบวนการดำเนินการด้านการจัดการจะมีการวางแผนในการจัดเมนูอาหาร โดยคำนึงถึงการสนองตอบต่อสมาชิกของครอบครัวและผู้บริโภคเป็นหลัก เน้นโภชนาการและคุณภาพอาหาร ทั้งนี้ จะพิจารณางบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด สิ่งสำคัญของการจัดการด้านอาหารคือ การรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมและหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม งานศึกษานี้สะท้อนภาพของการดำเนินการ และการจัดการด้านอาหาร ซึ่งเน้นวิถีศาสนา เพื่อให้เกิดความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางที่ชุมชนต้องการ นอกจากนั้น ยังนำไปสู่การพัฒนาชุมชนให้เกิดความมั่นคงในการดำเนินชีวิตระดับครัวเรือนของชุมชน
 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานชุมชนและงานศึกษารูปแบบการจัดการขององค์กรและสถาบันที่เกี่ยวกับการพัฒนารวมถึงการให้บริการสาธารณะในต่างประเทศที่น่าสนใจเช่น งานของ บริกแนลและโมแดล (Brignall, S. & Modell, S., 2000) ชื่อ An institutional perspective on performance measurement and management in the new public sector ” ศึกษารูปแบบการดำเนินงานภายใต้ทฤษฎีสถาบัน โดยอภิปรายรูปแบบและแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเพื่อผลประโยชน์ขององค์กร จากเอกสารที่เกี่ยวข้องและจากการดำเนินงานโดยเน้นองค์กรสาธารณะของประเทศในยุโรปและสแกนดิเนเวีย ทั้งนี้ ข้อสรุปที่ได้จากการอภิปรายผลภายใต้ข้อเสนอของงานศึกษา (Research Proposition) มี 5 ประเด็นได้แก่ ประเด็นแรก อิทธิพลที่ผลักดันการดำเนินงานของสถาบันประสบผลสำเร็จคือ ทุนสนับสนุนจากองค์กร การเน้นจัดการขององค์กร การบรูณาการระหว่างมาตรวัดของผลลัพธ์ทางการเงินกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรผ่านสายงานบังคับบัญชาขององค์กร ประเด็นที่สอง ปัจจัยด้านวิธีการดำเนินงานของสถาบันคือ การจัดสรรทำหน้าที่ตามความถนัด (ความเป็นมืออาชีพ)ภายในองค์กร สิ่งที่สถาบันเน้นมากคือ การจัดการและการบูรณาการระหว่างมาตรวัดของคุณภาพการทำงานและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นภายในองค์กร ประเด็นที่สาม เกิดความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มงานบริการภายในองค์กรและผู้จัดสรรเงินทุนสนับสนุนให้แก่การดำเนินงาน ดังนั้น การดำเนินงานจึงต้องการการจัดการในรูปแบบพฤติกรรมการตอบสนองความสามารถในการทำงานของตนเอง (Management to Pro - active) โดยพยายามสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ขององค์กรและผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประเด็นที่สี่ เมื่อองค์กรถูกผลักดันให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำสัญญาเพื่อการจัดซื้อและผู้จัดสรรผล ประโยชน์ขององค์กร การจัดการจึงต้องเน้นการบูรณาการระหว่างมาตรวัดด้านการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร คุณภาพและการแข่งขันภายในองค์กร ประเด็นที่ห้า การดำเนินงานขององค์กรในประเด็นที่หนึ่งและสอง ต้องการการจัดทำรายงานด้านมาตรวัดทางการเงินและมาตรวัดการดำเนินงานจากกลุ่มงานบริการ รวมทั้งมาตรวัดการจัดการเชิงรุก (Pro - active) ตามประเด็นที่สาม นอกจากนั้น ยังสามารถนำไปใช้กับการสร้างความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งสามกลุ่ม ภายใต้การกำกับควบคุมขององค์กรซึ่งได้แก่ กลุ่มงานบริการ ผู้จัดสรรผลประโยชน์ด้านการเงิน และกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ
 นอกจากผลการศึกษาข้างต้นแล้ว ข้อสรุปของการศึกษายังได้อภิปรายถึงรูปแบบการบริหารจัดการของผู้จัดการองค์กรหรือผู้บริหาร ที่สะท้อนถึงการใช้ภาวะผู้นำและการชี้นำที่ต้องแสดงบทบาทไปตามเงื่อนไขแวดล้อม นอกจากนั้น ผู้นำองค์กรจะต้องมีความสามารถด้านการปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ความสามารถในการตัดสินใจ การเจรจาต่อรอง การจัดทำรายงานและการกระจายข่าวสารให้เกิดการรับรู้ต่อผู้ร่วมงาน เป็นต้น  การศึกษารูปแบบการการบริหารที่มีลักษณะคล้ายกันขององค์กรชุมชนแต่ได้รายละเอียดของการดำเนินงานที่มากกว่า และได้นำทฤษฎีการคำนวณและตัวแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ขององค์การ (Computational and Mathematical Organization Theory) มาใช้เป็นแนวทางในการศึกษา คือการศึกษาเรื่อง “ Communities of  Practice:  Performant and Evolution ” ของฮิวเบอร์แมนและฮ็อก (Huberman, B.A., & Hogg, T., 1995) มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาเพื่อ ประการแรก นำเสนอภาพรวมของความร่วมมือร่วมใจภายในชุมชน ประการที่สอง ทดสอบภาพรวมของพลวัตต์กลุ่มในการดำเนินงานภายในองค์กรชุมชน ประการที่สาม สร้างกลไกเพื่อใช้ในการพิจารณาการปรับตัว การเจริญเติบโตตามธรรมชาติของชุมชน ความเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือการเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมโดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมจากส่วนกลาง  ทั้งนี้  โดยนำกลไกที่น่าเชื่อถือ  (ทฤษฎีการคำนวณและตัวแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ขององค์การ)  มาสร้างเป็นแบบจำลองของการดำเนินงานดังกล่าว การศึกษาพบว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิผลการดำเนินงานคือ ขนาดขององค์กร จำนวนของขั้นตอนสู่ความสำเร็จ อัตราการแสดงข่าวสารข้อมูลหรือความช่วยเหลือ โครงสร้างองค์กร (โดยบุคคลอาจใช้ข้อมูลข่าวสารหรือขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น) คุณภาพในระดับบุคคล (การทำงานด้วยตนเอง) และคุณภาพที่เกิดจากความร่วมมือในการให้ข่าวสารหรือการให้ความช่วยเหลือจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง ดังนั้น การดำเนินงานขององค์กรชุมชนเท่ากับ การดำเนินงานของบุคคลทั้งองค์กรและการดำเนินงานในระดับบุคคล โดยขยายความได้ว่า บุคคลต้องผ่านช่วงเวลาการทำงานของตนไปสู่ขั้นตอนที่งานสำเร็จ ซึ่งในแต่ละช่วงเวลา บุคคลสามารถทำงานด้วยตนเองหรือขอให้บุคคลอื่นในชุมชนช่วยทำงานก็ได้ ฉะนั้น การค้นพบของการศึกษานี้คือ รูปแบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกภายในชุมชน  ได้แก่ การเข้าถึงความช่วยเหลือหรือการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของบุคคลอื่นในระดับหรือระหว่างขั้นของอัตราความสำเร็จของงานและโครงสร้างองค์กรที่มีการขอความช่วยเหลือในการดำเนินงานของบุคคลหนึ่งจากอีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งหากมีในระดับสูงจะไม่เกิดผลผลิตที่แปลกใหม่ (หมายถึงไม่สร้างสรรค์ด้วยตนเองอาศัยข้อมูลหรือความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นในระดับสูง) ผลก็คือ เกิดความด้อยประสิทธิผลในการดำเนินงานของตนเอง หากการให้ความช่วยเหลือ หรือการให้ข่าวสารข้อมูลจากบุคคลอื่นน้อยกว่าอัตราความสำเร็จก็จะทำให้เกิดการนำข่าวสารข้อมูลเดิมมาใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดคุณค่าด้านคุณภาพการดำเนินงาน คุณค่าดังกล่าวสะท้อนถึงคุณค่าการดำเนินงานในระดับบุคคลจากโครงสร้างการปฏิสัมพันธ์ของชุมชน   ดังนั้น การปฏิสัมพันธ์ที่ดีที่สุด จะเป็นเสมือนหน้าที่ในองค์กรซึ่งอยู่ภายใต้บริบทที่มีความต่างกันทั้งขนาดและความเป็นทางการ  ทำให้เกิดช่วงชั้นของคุณภาพในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร พิจารณาจากเงื่อนไขที่ว่า หากบุคคลมีอิสระและเป็นตัวของตัวเองในการดำเนินงาน องค์กรชุมชนจะมีโครงสร้างในแนวราบ (Flat Organization) กล่าวคือ สมาชิกองค์กรชุมชนจะมีความเสมอภาคในการติดต่อเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน เรียกว่า การเชื่อมโยง  ทั้งนี้ ข้อสรุปด้านอื่น ๆ จากงานศึกษานี้คือ  แนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการในการปฏิบัติงานภายใต้สภาพแวดล้อมของชุมชน กล่าวคือ หากองค์กรชุมชนเจริญเติบโตขึ้น รูปแบบการปฏิสัมพันธ์จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากรูปแบบแนวราบ (Flat) ไปสู่รูปแบบกลุ่มย่อย (Cluster) โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ ความเฉื่อยที่อาจเกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านองค์กร เช่น การจัดการต้นทุน ความสูญเสียที่เกิดจากการดำเนินงานอันเนื่องจากความต้องการการเรียนรู้สิ่งใหม่ด้านการเชื่อมโยงชุมชนที่มีการเปลี่ยนแปลง  จะเห็นว่าแนวคิดดังกล่าว คือ สิ่งที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมในการดำเนินงานขององค์กรชุมชน และสอดคล้องกับงานศึกษาการปฏิบัติงานขององค์กรชุมชนชื่อ Knowledge and Organization: A Social - Practice Perspectiveของซิลลี่บราวและดูกอยด์ (Brow , J.S. & Duguid, P., 2001) ซึ่งนำเสนอผลการวิเคราะห์ในประเด็นนวัตกรรมขององค์กรชุมชนที่มีความแตกต่างกันระหว่างองค์กรชุมชน ซึ่งดำเนินงานทางสังคม และมีนวัตกรรมที่มาจากความรู้บนรากฐานทางสังคม กับองค์กรชุมชนที่ดำเนินงานทางการตลาดและมีนวัตกรรมทางการผลิตที่มาจากพื้นฐานความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ และเพื่อให้ทราบถึงแนวคิดด้านองค์การที่จะนำมาใช้ศึกษาความแตกต่างขององค์กรทั้งสองประเภท  ทั้งนี้ งานศึกษาของ ซิลลี่บราวและดูกอยด์ (2001) ได้ศึกษาด้วยวิธีการสังเคราะห์งานวิจัยด้านองค์การขององค์กรชุมชน ซึ่งพบความขัดแย้งระหว่างการศึกษาทั้งสองประเภทและมีความพยายามที่จะแก้ไขจุดอ่อนที่เกิดขึ้นโดยพิจารณาผ่านแนวคิดในการปฏิบัติงาน การศึกษานี้สนับสนุนทัศนะด้านสังคมเชิงวัฒนธรรม (Sociocultural) ของการเรียนรู้และการสร้างความรู้ ได้แก่ การเรียนรู้เชิงนิเวศน์ การเรียนรู้ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม การสร้างเครือข่ายชุมชน เป็นต้น แต่การศึกษาดังกล่าว ได้ท้าทายทัศนะเชิงประเพณี (Convention) ขององค์กรที่มีลักษณะภายในคล้ายคลึงกัน ซึ่งองค์กรที่มีลักษณะเชิงประเพณี จะทำให้เกิดข้อจำกัดในการเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นและข้อจำกัดด้านการประสานงานขององค์กรชุมชนจากปัจจัยการควบคุมตามสายงานบังคับบัญชา  จากการสังเคราะห์การศึกษาที่เน้นการปฏิบัติงานตามทัศนะด้านสังคมเชิงวัฒนธรรม พบว่า เกิดนวัตกรรม และความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ชุมชนสร้างขึ้นเอง เนื่องจาก การเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายจะทำให้เกิดการถ่ายทอดของความรู้จากชุมชนหรือองค์กรชุมชนหนึ่งไปยังอีกองค์กรชุมชนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม แนวทางการศึกษาเชิงประเพณี       พบการเกิดความรู้ใหม่จากการปฏิบัติงานซ้ำ ๆ กันทุกวันแต่ไม่เหมาะสมกับการนำไปเป็นแนวทางการปฏิบัติงานขององค์กรชุมชน นอกจากนั้น มีการเสนอว่า ความเป็นท้องถิ่น มีความแตกต่างจากความเป็นระบบโลก การเข้าสู่เวทีการแข่งขัน ทำให้เกิดการพึ่งพาและมีความสัมพันธ์กับภายนอก เช่น การนำเข้าทุน การเกี่ยวข้องกับการตลาดและการแข่งขัน ซึ่งทำให้ต้องทำความเข้าใจถึงหลักการประสานงาน เนื่องจากฐานคติที่ว่า การศึกษาท้องถิ่นและชุมชนได้รับการยกระดับเป็นศาสตร์ด้านหนึ่ง แม้ว่า ศาสตร์ของการพัฒนาสาธารณะจะไม่ใช่สิ่งเดียวกับชุมชน แต่มีความเกี่ยวข้องกันในฐานะที่ชุมชนและท้องถิ่นเป็นสิ่งที่สร้างองค์ความรู้ด้านสาธารณะ ประการสำคัญ กระบวนการเรียนรู้ขององค์กรชุมชนมาจากพื้นฐานทางสังคมและมาจากปรากฏการณ์ของความร่วมมือกันของกลุ่มคนภายในชุมชน ไม่ได้มาจากสิ่งภายนอกและที่สำคัญ องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรชุมชนกับสภาพแวดล้อมภายนอกจะมีลักษณะมาถาวร จากแนวคิดดังกล่าวจึงทำให้ต้องนำงานศึกษาการใช้ชุมชนเป็นฐานในการพัฒนามาพิจารณา เนื่องจากแนวคิดข้างต้นให้ความสำคัญต่อการใช้ชุมชนเป็นฐาน เช่น  งานศึกษาเรื่อง Participatory landscape planning and sustainable community development: Methodological observations from a case study in rural Mexico ” ของวาเลนเซีย ซานดอวอลและคณะ (Valencia - Sandoval, C., Flanders, D.N., Kozak, R. A., 2010)  ศึกษาการวางแผนโดยชุมชนมีส่วนร่วมหรือที่เรียกว่า ชุมชนเป็นฐาน ภายใต้ฐานคิดของการพัฒนาที่ทำกินและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีองค์กรภาคีสนับสนุนได้แก่ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน การศึกษาใช้วิธีการประชุมที่มีกระบวนการวางแผนร่วมกัน รวมทั้งการใช้แผนที่ชุมชนมาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ การศึกษาดังกล่าวใช้สารสนเทศที่หลากหลาย  เช่น แผนที่ทางภูมิศาสตร์ (GIS) แผนผังชุมชน เพื่อประกอบการตัดสินใจในการพัฒนา งานศึกษา สามารถสะท้อนความต้องการของชุมชนในการพัฒนาที่ทำกินด้วยการดำเนินงานเป็นกลุ่มให้ความสำคัญต่อผู้นำชุมชนที่เรียกว่า ผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่น งานศึกษาเน้นหาคำตอบของผลลัพธ์ (Outcome) ในการดำเนินงานร่วมกันของชุมชนโดยเฉพาะด้านการวางแผนพัฒนาชุมชน ด้วยการสนับสนุนขององค์กรภาคีภายใต้ฐานคติที่เชื่อว่า ชุมชนยังขาดความสามารถและประสบการณ์ด้านองค์การ ซึ่งไม่สามารถใช้ประโยชน์ของโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่จัดให้มีขึ้นได้  การศึกษานี้ยังค้นพบข้อตกลงร่วมกันของชุมชน จนมีผลต่อการกำหนดนโยบายในระดับสูงและมีผลต่อการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น นอกจากนั้น งานศึกษายังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชน ประสิทธิภาพของต้นทุนและความต้องการของชุมชนที่แท้จริง  งานศึกษาที่เป็นไปในแนวทางเดียวกับงานศึกษาข้างต้นคือ งานศึกษาของเทคลีไฮมาน็อท เอ็มและคณะ (Teklehaimanot,  M., Teklehaimanot, H. D., Teklehaimanot, A., 2013) เรื่อง “ Human resource develop ment for a community -based health extension program: a case study from Ethiopia ” เป็นการศึกษากรณีศึกษาที่มุ่งประเด็นเพื่อชี้ ให้เห็นถึงกลยุทธ์และองค์ประกอบของกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคชุมชน โดยนำแผนงานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งใช้ชุมชนเป็นฐาน (HEP) ในกระบวนการพัฒนาชุมชน กระบวนการพัฒนาดังกล่าวเน้นการพัฒนาทักษะทางสังคม วัฒนธรรมและจิตสำนึก รวมทั้งการสนับสนุนให้ผู้ที่ทำกิจกรรมดังกล่าว พัฒนาตนเองไปสู่การดูแลสุขภาพอนามัยของคนในชุมชน ภายใต้ข้อจำกัดด้านต่าง ๆ เช่น ความยากจน  ลักษณะพื้นที่ที่ห่างไกลจากเมือง ตลอดจนการมุ่งลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลรวมทั้งปัจจัยด้านเศรษฐสังคม (Socioeconomic) กระบวนการพัฒนา เน้นความสามารถในการดูแลซึ่งกันและกัน โดยคนในชุมชนด้วยกันเอง ให้ความสำคัญต่อสถาบันชุมชน เชื่อมโยงระบบสุขภาพเข้ากับชุมชนเพื่อให้คนในชุมชนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ สถาบันครอบครัวจะได้รับความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ โรงเรียนซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาจะรองรับแผนงานเพื่อกระจายการปฏิบัติไปสู่สถาบันในระดับครอบครัว  โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดบริการด้านสุขภาพโดยชุมชน การศึกษานี้ได้ข้อสรุปว่า ชุมชนสามารถขับเคลื่อน (Mobilization) ได้ด้วยตนเองซึ่งตรงตามความต้องการ ด้านผลลัพธ์ทางการศึกษา การดำเนินงานของชุมชน เกิดขึ้นภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนภายใต้เงื่อนไขแวดล้อมของชุมชนเอง ทำให้ชุมชนสามารถสร้างนิยามได้ตรงตามความต้องการของตน และทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากบริการดังกล่าว กลไกของระบบเครือข่ายภายในชุมชนโดยเฉพาะระบบรักษาพยาบาลที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเด็กมีความเข้มแข็งขึ้นจากสตรีในชุมชน รูปแบบการใช้ชุมชนเป็นฐานอีกรูปแบบหนึ่งคือ งานศึกษาที่มุ่งศึกษาการสร้างชุมชนและศักยภาพทางสังคมของ แจนด้า แคทรีน บี (Janda, K. B.,  2014) เรื่อง  “ Building communities and social potential: Between and beyond organi zations and individuals in commercial properties ” ศึกษาถึงศักยภาพสูงสุดของชุมชนและแรงผลักดันการดำเนินงาน อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการจัดการทรัพย์สินและการทำการค้า จากกรอบแนวคิดของวิธีการสร้างชุมชน ซึ่งแบ่งพิจารณาเป็นความสามารถในการประยุกต์ทรัพย์สินที่ถือครองและวัฒนธรรมองค์กร พฤติกรรมของผู้ถือครองทรัพย์สินและการปรับใช้เทคโนโลยี งานศึกษาให้ความสำคัญต่อปัจจัยสามด้าน ได้แก่ ปัจจัยด้านกายภาพและเทคนิคต่าง ๆ ปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม เช่น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและปัจจัยด้านกฎระเบียบต่าง ๆ เช่น ประ เพณีที่สืบทอดกันมาและภาษา เป็นต้น แนวทางในการสร้างศักยภาพชุมชน ให้ความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างคน และการเชื่อมโยงกิจกรรมกับโลกภายนอกซึ่งมีการพัฒนาตลอดเวลา รวมทั้งมีการเชื่อมโยงกับองค์กรภายในชุมชน แนวทางในสร้างชุมชนเน้นประเด็นทางสังคมที่สามารถสร้างสิ่งที่เรียกว่า ศักยภาพทางสังคมซึ่ง ได้แก่ การปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป  การศึกษาชี้ให้เห็นถึงปัจจัยด้านค่านิยม ทั้งในระดับองค์กรและปัจเจก ภายใต้เงื่อนทางสังคมและเงื่อนไขด้านค่านิยมและลักษณะการทำงาน ซึ่งงานศึกษาได้ศึกษาชุมชนในสภาพแวดล้อม เงื่อนไขของสังคมตะวันตกที่มีลักษณะชุมชนและค่านิยมของผู้ประกอบการระดับชุมชน บนพื้นฐานความเชื่อในระบบเศรษฐกิจการค้าแบบเสรีของชุมชน นอกจากนั้น งานศึกษายังชี้ให้เห็นว่า ชุมชนต้องมีการปรับปรุงองค์ประกอบของการดำเนินงานในศักยภาพด้านเทคนิคการใช้ทรัพยากรและการแก้ไขปัญหาทางสังคมของชุมชน ประการสำคัญ ผู้ศึกษาเชื่อในการดำเนินงานขององค์กรชุมชนภายใต้แนวคิดการใช้ชุมชนเป็นฐานเช่นเดียวกับงานศึกษาอื่น ๆ  รูปแบบการใช้ชุมชนเป็นฐานจากการสร้างศักยภาพขององค์กรชุมชนผ่านการอบรมด้วยวิธีการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ของชุมชนในไต้หวัน เป็นการศึกษาถึงการสร้างศักยภาพด้านการมีส่วนร่วมของชุมชนของ ฟังชูนเต็งและเฟียงยางเคา (Tseng, F. C., & Kuo, F. Y., 2014, pp. 37 - 47) เรื่อง “ A study of social participation and know ledge sharing in the teachers' online professional community of practice ” โดยงานศึกษาสนใจการสร้างศักยภาพของชุมชนโดยผ่านการศึกษาอบรมทางออนไลน์ ซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า ปฏิบัติการของชุมชนผ่านระบบออนไลน์ (online communities of practices: Cops)  ทั้งนี้  งานศึกษามุ่งหาคำตอบ  2  ประการ  ได้แก่ ประการแรก การวิจารณ์และวิเคราะห์เพื่อแบ่งปันความรู้กับผู้อบรมผ่านปัจจัยด้านการยอมรับทางสังคมและทุนทางสังคม ประการที่สอง ปัจจัยด้านทุนทางสังคมและการยอมรับทางสังคมมีอิทธิพลต่อกันและมีอิทธิพลต่อการปฏิบัติการชุมชนผ่านระบบออนไลน์  ตัวแบบของการศึกษา พยายามชี้ให้เห็นถึงจุดแข็งของการนำระบบออนไลน์มาใช้ เนื่องจากจะทำให้เกิด อิทธิพลด้านบวกต่อศักยภาพที่เกิดขึ้น ได้แก่ ประการแรก ความสามารถในการแบ่งปันความรู้ได้ด้วยตนเอง ประการที่สอง การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ซึ่งถือเป็นข้อผูกมัดในการถือประโยชน์ร่วมกัน ประการที่สาม ความคาดหวังต่อการดำเนินงานขององค์กร และประการสุดท้าย พฤติกรรมการแบ่งปันความรู้ร่วมกัน การศึกษาใช้ผลที่ได้จากกระบวนการออนไลน์ผ่านเว็บไซด์และการสัมภาษณ์โดยใช้แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างบนพื้นฐานทุนทางสังคม (Semi - sructured Inter - views)  มาวิเคราะห์ การศึกษาพบว่า สิ่งสำคัญในการแบ่งปันความรู้จากกระบวนการมีส่วนร่วมคือ ความคาดหวังจากการ ดำเนินงานขององค์กรและความสามารถในตนเอง ขณะที่ไม่มีนัยสำคัญของความคาดหวังจากการดำเนินงานในระดับปัจเจก แม้ว่างานศึกษา จะไม่ได้ศึกษากิจกรรมในการดำเนินงานแบบภาพรวมเหมือนงานศึกษาอื่น ๆ แต่งานศึกษาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการดำเนินงานขององค์กรชุมชนโดยใช้ทุนทางสังคมมาเป็นพื้นฐาน ทำให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมในการแบ่งปัน การแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อทำให้เกิดการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพซึ่งเป็นเสมือนข้อผูกมัดทางสังคม  ซึ่งก็คือ แนวคิดค่านิยมในสังคม ดังงานศึกษาของ เฟริชิโอ เจเอและคณะ (Felicio, J. A., Gonçalves, H.M., Gonçalves, V. D. C., 2013, pp. 2139 - 2146)  เรื่อง  “ Social value and organizational performance in non - profit social organizations: Social entrepreneurship, leader ship, and socioeconomic context effects ” ได้ให้ความหมายของคำว่าองค์กรทางสังคมที่ไม่หวังผลกำไรในสองความเห็นคือ องค์กรในรูปแบบประชาสังคม (Civil Society Organization) และองค์กรสาธารณะที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ โดยไม่ต้องเสียภาษีจากการประกอบการ ดังนั้น จึงอาจพิจารณาได้ว่า รูปแบบที่เป็นองค์กรในรูปแบบประชาสังคมคือ องค์กรชุมชนนั่นเอง การศึกษามุ่งศึกษา ประการแรก เพื่อประเมินค่านิยมทางสังคมและการแปรเปลี่ยนสภาพภาวะผู้นำ ซึ่งนำไปสู่การสร้างค่านิยมทางสังคมและการปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กร ประการที่สอง เพื่อประเมินความ สัมพันธ์ระหว่างค่านิยมทางสังคมกับการดำเนินงานขององค์กรทางสังคมดังกล่าว ทั้งนี้ เน้นรูปแบบองค์กรที่ดำเนินงานทางสังคมในลักษณะผู้ประกอบวิสาหกิจสังคม นอกจากนั้น งานศึกษา ยังนำเสนอแนวคิดที่สำคัญ ได้แก่ แนวคิดผู้ประกอบการทางสังคม (Social entrepreneurship) ซึ่งหมายถึง ผู้ประกอบการทางสังคมที่มีการดำเนินงาน เพื่อสร้างริเริ่มและทำให้เกิดนวัตกรรมทางสังคม ทั้งที่เป็นการดำเนินงานโดยไม่หวังผลกำไรและหวังผลกำไร  อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานดังกล่าว เป็นการดำเนินงานเพื่อทำให้เกิดกระบวนการพัฒนาทางสังคมและ/หรือการแก้ไขปัญหาทางสังคม สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ผู้ศึกษาให้ความสำคัญ  ได้แก่ ภาวะผู้นำ อันเป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาเห็นว่าจะทำให้การ ดำเนินงานขององค์กรเกิดประสิทธิภาพ โดยคุณสมบัติของภาวะผู้นำ จะต้องมีความสามารถในการกระตุ้นให้การดำเนินงานขององค์กรมีประสิทธิภาพ สามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ในการดำเนินงานที่ดี คุณสมบัติดังกล่าว ได้แก่ ความสามารถในการสร้างแรงจูงใจแก่สมาชิกองค์กร ความสามารถในการกระตุ้นให้เกิดความคิดและการตัดสินใจในระดับปัจเจก มีคุณธรรมและต้องมีความรู้ความสามารถ รวมถึงการรู้จักฉกฉวยโอกาสที่ดี เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน การศึกษานี้พบว่า องค์กรให้ความสำคัญต่อคุณค่าทางสังคม มากกว่ารูปแบบการดำเนินงาน เนื่องจากมีความเห็นว่า การสนองตอบต่อคุณค่าทางสังคม ทำให้เกิดความคิดริเริ่มและเกิดนวัตกรรมในการดำเนินงาน เช่น การลำดับความสำคัญของทรัพยากร ทำให้เกิดความสามารถในการสร้างการยอมรับทางสังคมและความพึงพอใจแก่สังคม ประการสำคัญ ทำให้เกิดคุณภาพในการให้บริการและการยอมรับจากประชาสังคม นอกจากนั้น ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสำเร็จคือ ภาวะผู้นำ ซึ่งคุณสมบัติของภาวะผู้นำตามนิยามข้างต้นทำให้องค์กรประสบผลสำเร็จ
ข้อสรุปจากแนวคิดและขอเสนอแนะ
การพิจารณาแนวคิดการดำเนินงานขององค์กรชุมชน ผ่านการเชื่อมโยงและสังเคราะห์แนวคิดจากนักวิชาการและงานศึกษา ทำให้ได้ข้อสรุปองค์ประกอบของการดำเนินงานของชุมชน ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบของความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน คือ
1. ความเป็นกลุ่มสมาชิกของประชาชนในชุมชน มีการกำหนดกิจกรรม ประสิทธิผลของเป้าหมายและผลลัพธ์รวมถึงการแบ่งปันวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีกิจกรรมและความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนด้วยกระบวนการจัดการแบบมีส่วนร่วม เรียกว่า การใช้ชุมชนเป็นฐาน
2. มีคณะทำงานและรูปแบบองค์กร มีการบริหารจัดการของตนเอง มีการกำหนดหน้าที่ชัดเจน ทั้งนี้ อาจมาจากข้อกำหนดของนโยบายและกฎหมายของรัฐ แต่การทำให้เกิดประสิทธิภาพของการดำเนินงาน ต้องปราศจากการแทรกแซงด้านอำนาจการดำเนินงานของหน่วยงานใด ๆ โดยเฉพาะการแทรกแซงกระบวนการเรียนรู้
3. มีความร่วมมือร่วมใจและการมีส่วนร่วมของสมาชิก การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การประสานเชื่อมโยง เพื่อการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องต่อความเป็นระบบโลก มีการจัดสรรทรัพยากรที่สอดคล้องต่อวัฒนธรรมของชุมชน สภาพภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐสังคมหรืออัตลักษณ์ของชุมชนและท้องถิ่น  
4. มีการปฏิสัมพันธ์ทั้งในองค์กรชุมชนและระหว่างองค์กรชุมชนทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพเพื่อการเข้าถึงความช่วยเหลือ การเข้าถึงข่าวสารข้อมูล และการเข้าถึงทรัพยากร เพื่อทำให้กระบวนการการทำงาน สนองตอบต่อความสามารถในการทำงานของตนเองได้ ทั้งนี้ การปฏิสัมพันธ์ดังกล่าว นำไปสู่การสร้างโครงสร้างทางสังคมและคุณค่าทางสังคม ทั้งในรูปเครือข่ายและการเชื่อมโยงจากการมีค่านิยมทางสังคมร่วมกัน อาจเรียกค่านิยมดังกล่าวว่า ค่านิยมตามลักษณะทุนทางสังคม
5. มีกลไกในการดำเนินงาน ซึ่งผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินงานคือ ผู้นำที่มีความรู้และประสบการณ์ สามารถชี้นำและชักนำให้เกิดความร่วมมือ เช่น การชักนำให้เกิดกระบวนการในการวางแผนร่วมกัน การตัดสินใจที่ดีและกล้าหาญ มีอุดมการณ์ สามารถแสดงบทบาทในเจรจาต่อรองได้ดี สามารถจัดทำรายงานและมีหน้าที่กระจายข่าวสาร รวมถึงการสร้างสมดุลระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการดำเนินงานขององค์กรชุมชนมีอุดมการณ์และต้องมีความเสียสละ     
 อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบของความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนในบางลักษณะโดยเฉพาะ องค์ประกอบซึ่งเน้นนวัตกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเพื่อสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบโลก อาจทำให้เกิดความล้มเหลวในการดำเนินงานขององค์กรชุมชน เนื่องจาก สิ่งดังกล่าวอาจมีผลในการครอบงำต่อค่านิยมในเชิงปัจเจก ทำให้ขาดการคำนึงถึงการมีส่วนร่วม และละเลยต่อทุนทางสังคม อันเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานขององค์กรชุมชน ดังนั้น การพัฒนาเพื่อการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรชุมชน ควรคำนึงถึงลักษณะซึ่งมีผลกระทบต่อองค์ประกอบดังกล่าวด้วย
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
จินตนา บุญยิ่ง, ธงชัย อามาตยบณัฑิต และสุภาดา คำสุชาติ. (2555). ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารหมู่บ้านจัดการสุขภาพ ของอาสาสมัครสาธารณสุข ประจําหมู่บ้านในจังหวัดอุบลราชธาน. วารสารวิจัยสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉบับพิเศษ, 65-74.
คณะทำงานสุขภาพคนไทย. (2554). รายงานสุขภาพคนไทย. 6 ..2556, http://www.hiso.or.th/ hiso5/ report/ report2011T.php.
ชิเกโตมิ, ชินอิชิ. (2549). ศักยภาพในการสร้างองค์กรของสังคมท้องถิ่นในการพัฒนาชนบท: การศึกษาเปรียบเทียบการจัดองค์กรสินเชื่อขนาดเล็กระหว่างประเทศไทยกับฟิลิปปินส์. 12 สิงหาคม 2551, http://www. Midnight univ.org/ศักยภาพในการสร้างองค์กร.
ดาริกา สุวรรณมงคล, บุศรา ลิ้มนิรันดร์กุล, และถาวร อ่อนประไพ. (2556). การจัดการทรัพยากร ธรรมชาติโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลากหลายที่ระดับท้องถิ่น : กรณีศึกษาลุ่มน้ำแม่ขะนาด อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน. วารสารมหาวิทยาลัยนครพนม (การประชุมวิชาการระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 8), 121-127.
ปริวัตร เปลี่ยนศิริ, วาสิตา บุญสาธร. (2557). การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนากับการประยุกต์ใช้สุนทรียสาธกในการค้นหาแบบจำลองแนวคิดการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน: กรณีศึกษาชุมชนที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวกลุ่มชาติพันธุ์ ปกากะญอบ้านแม่คองซ้าย. วารสารพัฒนาสังคม, 15 (2).
พยุง รสใจ. (...). บทบาทผู้นำสตรีในทางการเมืองการปกครองสุพรรณบุรี: สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี.
พระมหาสุนทร ปัญญาพงษ์. (2545). องค์กรชุมชนกับการจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำ: กรณีศึกษาอุทยานมัจฉาบ้านโขงกุดหวาย ตำบลเกิ้ง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม. ปริญญนิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต, มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ขอนแก่น.
ศิลป์ชัย นิลกร. (2550). สถิติเบื้องต้นสำหรับงานวิจัย. จุลสาร สวพ.ทร. หน่วยงานพัฒนาทรัพยากรบุคล.
กองทัพเรือ. จังหวัดสมุทรปราการ.
ศรัณยู เรือนจันทร์. (2557). การใช้ชุมชนเป็นฐานในการจัดการสุขภาวะเพื่อเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติน้ำท่วมและดิน
ถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดอุตรดิตถ์. วารสารพฤติกรรมศาสตร์ (Journal of Behavioral Science), 20(1).
ศุภวัฒน์ ปภัสสรากาญจน์. (2553). การจัดการและการบริหารสาธารณะใหม่. กรุงเทพฯ: ศูนย์เอกสารตำรามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.
สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง. (2555). ภาคประชาสังคมกับการตรวจสอบการเลือกตั้ง. เอกสารการอบรม (ปรับปรุงล่าสุด 2556). 16 .., 2557, http:// www2.ect.go.th/ download.php?Province= aped & SiteMenuID=5804.
สํานักงานคณะกรรมการพฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2555-2559). สรุปสาระสำคัญ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่สิบเอ็ด พ.. ๒๕๕๕๒๕๕๙. กทม.: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ., Retrieved from Retrieved 6 ..2556,http://www.nesdb.go.th/Default.aspx?tabid=395.
สุพรรณี ไชยอำพร และ ฐิติญา วิมลวัฒน์. (2556). การจัดการอาหารในระดับครอบครัว ตามวิถีมุสลิม
และกระบวนการขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในครอบครัว: กรณีศึกษา ชุมชนบ้านชาใจ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง. วารสารพัฒนาสังคม, 15(2).
อุดมศักดิ์ เดโชชัย. (2553). องค์กรชุมชนกับการบริหารจัดการทุนแบบบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนกรณีศึกษา : บ้านคีรีวง ตำบลกำโลน อำเภอลานสกาและบ้านดอนคา  ตำบลทอนหงส์อำเภอพรหมคีรี  จังหวัดนครศรีธรรมราช. Retrieved 6 ..2556, [Online] Available.URL;HTTP://http://www.gotoknow.
      org/blogs/posts/374750.

ภาษาอังกฤษ   
Abbasi, A., Wigand, R. t., Hossain, L. (2014). Measuring social capital through networkanalysis and its influence on individual performance. Library & Information Science Research, 1-8.
Ackerman, J. M. (2014). Rethinking the International Anti-Corruption Agenda: Civil Society, Human Rights
and Democracy. American University International Law Review, 29(2), 2.
Agarwala, S. D., Barthel, M. L., Rost, C., Borning, A., Bennett, W. L., Johnson, N. C.,. (2014). Grassroots organizing in the digital age: considering values and technology in Tea Party and Occupy Wall Street. Information, Communication & Society, 17(3), 326-341. doi: 10.1080/1369118X.2013.873068.
Aldridge, S., Halpern, D., Fitzpatrict, S (Ed.). (2002). Social Capital. London: Performance and Innovation Unit.
Bourdieu, P. (1986). The Forms of Capital. New York, Greenwood: J. Richardson.
Brignall and S. Modell. (2000).  An institutional perspective on performance measurement and management in the new
          public sector. Management Accounting Research, 11, 281–306.
Duguid, John Seely Brow and Paul. (2001). Knowledge and Organization: A Social-Practice Perspective. Organization Science, 12(2), 198-213.
Escobar - Lemmon, M. & Ross, A. D. (2014). Does Decentralization Improve Perceptions of Accountability? Attitudinal Evidence from Colombia. American Journal of Political Science, 58(1), 175-188.
Felicio, J. A., Gonçalves, H.M., Gonçalves, V. D. C. (2013). Social value and organizational performance in non-profit social organizations: Social entrepreneurship, leadership, and socioeconomic context effects. Journal of Business Research, 66(10), 2139–2146.
Fornes, S. L., Rocco, T. S. Rosenberg, H., Gallagher, J. D. (2013). A Human Resource Development Performance Improvement Model for Workers with Mental Retardation in Supported Employment.  Paper presented at the Proceedings of the Fifth Annual College of Education Research Conference:: Urban and International Education Section (pp. 32 -38), http://coeweb.fiu.edu/research_conference/.
Field, J. (2008). Social Capital. (1st ed., pp. 193). London:: Routledge. Retrieved january, 20 2014, From HTTP:http.www. nesdb.go.th/sufficiency econ/ reain. Htm.
Gerlach, K. D., Spreng, R. N., Madore, K. P., Schacter, D. L. (2014). Future planning: Default network activity couples with frontoparietal control network and reward -processing regions during process and outcome simulations. Social Cognitive and Affective Neuroscience. doi: 10.1093.
Huberman, B.A., & Hogg, T. (1995). Communities of Practice: Performance and Evolution. Computational and Mathematical Organization Theory 1, 1, 73-92.
Janda, K. B. (2014). Building communities and social potential: Between and beyond organizations and individuals in commercial properties. Energy Policy, 67, 48-55.
Li, Y. (2013). Downward accountability in response to collective actions: The political economy of public goods provision in China. Economics of Transition, 22(1), 69-103. doi: 10.1111/ecot.12033.
Macfadyen, G., Cacaud, P., Kuemlangan, B. . ( 2005). Policy and Legislative Frameworks for Co-Management. Paper presented at the Paper prepared for the APFIC Regional Workshop on“Mainstreaming” Fisheries Co-management in Asia Pacific” - Siem Reap, Cambodia, Cambodia.
Orlitzky, M., Schmidt, F. L., Rynes, S. L. (2003). Corporate Social and Financial Performance: A Meta-analysis. Business Week, Organization Studies 24(3), 403-441.
Pawadee Meesapawong, Yacine Rezgui, Haijiang Li. (2014). Planning innovation orientation in public research and development organizations: Using a combined Delphi and Analytic Hierarchy Process approach. Technological Forecasting and Social Change.
Putnam, R. D. (1993). Making Democracy Work. Civic traditions in modern Italy. U.S: Princeton University Press.
R.G. Prins, M.A. Beenackers, M.C. Boog, F.J. Van Lenthe, J. Brug , A. Oenema. (2014). Neighbourhood social capital as a moderator between individual cognitions
Smith, B. W. & Holmes, M. D. (2014). Police Use of Excessive Force in Minority Communities: A Test of the Minority Threat, Place, and Community Accountability Hypotheses. Social Problems, 61(1), 83-104.
Stangor, C. (2014). Research Methods for the Behavioral Sciences (5 Ed.). U.S.A: Cengage Learning.
Teklehaimanot,  M., Teklehaimanot, H. D. (2013). Human resource development for a community-based health extension program: a case study from Ethiopia. Human Resources for Health 11(39). doi: 10.1186/1478-4491-11-39.
Tseng, F. C., & Kuo, F. Y. (2014). A study of social participation and knowledge sharing in the teachers' online professional community of practice. Computers & Education, 72, 37- 47.
Turner, M., & Hulme, D. (1997). Governmant, Administration and Development: Making the State Work. U.S.A: Kumarian.
Valencia - Sandoval, C., Flanders, D.N., Kozak, R. A. (2010). Participatory landscape Planning and sustainable community
development: Methodological observations from a case study in rural Mexico. Landscape and Urban Planning, 94    ( 1), 63 - 70.
Zimmerman, W. (2005). Modern Appoaches to Public Sector Management. Presentation for Lecture. School of management. Asian Institute of Technology. Phatumthanee.
ผู้เขียน      
ศุภวัฒน์ ปภัสสรากาญจน์
อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

โทร. 087 – 1111165 

Comments

Popular posts from this blog

หลักรัฐประศาสนศาสตร์ Module 1; ภาค/ ปีการศึกษา 3/2565

หลักรัฐประศาสนศาสตร์ Module 2 ; ภาค/ปีการศึกษา 3/2565

หลักรัฐประศาสนศาสตร์ Module 3 ; ภาค/ปีการศึกษา 3/2565